เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy หรือ DE) หมายถึงเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฎิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

การจัดงาน Digital Thailand 2016 ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคมศกนี้ ณ.ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเจ้าภาพได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ  และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ  มาใช้ในการดำเนินกิจการและพัฒนาธุรกิจโดยตรงเช่น ค่ายมือถือต่างๆ , ธนาคารพาณิชย์ , บริษัทด้านซอฟแวร์  และธุรกิจที่ค้าขายออนไลน์ เป็นต้น มาร่วมงานนิทรรศการและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ  และการให้การบริการผ่านแอป ที่สามารถใช้งานง่ายและเพิ่มความสะดวกสบายโดยการทำธุรกรรมต่างๆผ่านทางโทรศัพท์มือถือ  รวมถึงการได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาที่ได้จัดขึ้นโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย  และจากประเทศต่างๆทั่วโลก  ไม่น่าเชื่อครับว่าห้องจัดสัมมนาที่จัดเตรียมไว้เต็มแทบทุกห้องเลยทีเดียว

สำหรับหัวข้อที่ผมเข้าร่วมฟังในช่วงบ่ายจะเกี่ยวกับการเตรียมปรับตัวของภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลยุคดิจิทัล (Transforming towards Digital Government) ผู้เชี่ยวชาญท่านแรกที่มาบรรยายคือ Mr. Toshiyuki Zamma ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังประเทศญี่ปุ่น ได้พูดถึงประสบการณ์การดำเนินงานของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเป็น Digital Government ที่ผ่านมาในสถานการณ์ต่างๆทั้งในยามปรกติที่ให้บริการประชาชนได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ  และในส่วนของการจัดทำนโยบายที่ดีที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนญี่ปุ่นได้อย่างน่าประทับใจ  รวมถึงความรวดเร็วและถูกต้องในการสื่อสารข้อมูลในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน  หรือภัยพิบัติต่างๆเช่นการเกิดแผ่นดินไหว, สึนามิ เป็นต้น เห็นแล้วรู้สึกอิจฉาคนญี่ปุ่นขึ้นมานิดๆ  ถัดมาอีกท่านเป็นวิทยากรจากประเทศไทย ได้แก่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด  ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเลคทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)  ได้กล่าวถึงหัวข้อ Next Generation Government ของรัฐบาลไทยครับ ได้มีโอกาสฟังท่านบรรยายถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย  ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าประเทศไทยมีความหวังครับ จะมีอะไรใหม่ๆที่คาดว่าประชาชนและภาคธุรกิจน่าจะได้รับประโยชน์บ้าง  แต่อย่าใจร้อนนะครับ ทุกอย่างมีขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ซึ่งผลงานจะออกมาอย่างไรจะต้องคอยติดตามกันต่อไป

วิทยากรคนสุดท้าย ได้แก่ Mr. Jurgen  Coppens เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Digital Government ที่ทำงานให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ เข้าใจว่าแกคงมาจากทวีปยุโรปเพราะสำเนียงภาษาอังกฤษไม่ใช่คนอเมริกันหรือมาจากเกาะอังกฤษแน่นอน เนื้อหาที่แกบรรยายจะทำให้เราเข้าใจว่าเพราะเหตุใดประเทศสิงคโปร์ที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆ จึงสามารถพัฒนาประเทศไปได้ก้าวไกลในระดับโลกเลยทีเดียว รัฐบาลสิงคโปร์ได้ทำการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้อยากลึกซึ้ง และทำการปรับแนวทางปฎิบัติต่างๆให้เข้ากับประเทศสิงคโปร์ ผู้บรรยายได้ใช้คำสั้นๆที่เรียกว่า Singapore way ความจริงแล้วสาเหตุที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์มีความคืบหน้าเรื่องการสร้างสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ได้อย่างรวดเร็วจนเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนคือ  การวางรากฐานระบบโทรคมนาคมที่ก้าวหน้าและทั่วถึงทั้งประเทศ การเป็นที่ตั้งของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ชั้นนำหลายแห่ง  รวมถึงระดับการศึกษาของประชาชนสิงคโปร์ที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี

หลังจากฟังการบรรยายเสร็จและรับประทานอาหารว่างที่จัดเตรียมไว้จนอิ่มท้อง พร้อมกับรับเอกสารที่แจกสำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาแล้ว  ก็ได้เดินชมงานในส่วนของนิทรรศการและกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว  เดินดูงาน Digital Thailand สักพักผมได้พลัดหลงเข้าไปในงาน DocuWorld 2016 ที่จัดขึ้นใกล้เคียง  เปรียบเสมือนเป็นงานเดียวกัน  ผู้จัดงานได้แก่ Fuji Xerox ซึ่งคอนเซ็ปท์ของงานไว้ที่ “การเข้าสู่อนาคตแบบดิจิทัลไปพร้อมกับเรา” ซึ่งในงานมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัยหลายอย่างมาแสดง  มีนวัตกรรมและการบริการบางอย่างที่พบว่าเหมาะสมกับการทำธุรกิจยุคดิจิทัล  ได้แก่  Scan Translation Service เป็นเครื่องมีอทีมีความสามารถในการแปลภาษาต่างประเทศต่างๆ ได้หลายภาษา  และระบบ Multichannel Marketing Service (XMPie) ที่ทำให้การทำตลาดในยุคดิจิทัลดูง่ายขึ้น  และน่าจะตรงใจกับกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

สังคมและเศรษฐกิจยุคดิจิทัลอยู่รอบๆตัวแล้วครับ  ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม  เป็นความท้าทายของคนไทยและรัฐบาลไทย  รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนต่างๆในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย  ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุกครั้งที่ ไอโฟน หรือ แซมซุง ผลิตรุ่นใหม่ออกมา  แต่พวกเราทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสาร และความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเนื้อหามากกว่า  โอกาสหน้าจะได้กล่าวถึงนโยบายที่มีความสัมพันธ์กัน  ที่นักบัญชีน่าจะให้ความสนใจและติดตามคือ เรื่องของ National e-Payment Master Plan ที่เจ้าภาพหลักได้แก่  กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ  พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ   





ข้อมูลจาก : วารสาร CPD & Account ฉบับเดือนสิงหาคม 2559
คอลัมน์ สันติ ประพันธ์ : CLASSIFIED : LIFESTYLE


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ