สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านที่รัก กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะ... ในช่วงเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้ยินคนรอบข้างหลายคนคุยกันถึง “ความซับซ้อนของความสัมพันธ์” ระหว่างตนเองกับคนข้างกาย ซึ่งเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนย่อมมีอารมณ์ที่หลากหลายมากมาย ทั้งสุข ทั้งทุกข์ บ้างก็มึนงงไม่รู้ว่าควรจะสุขหรือทุกข์ดี บ่อยครั้งเมื่อไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่กำลังดำเนินไปก็พาให้สับสนกังวลใจจนกลายเป็นความเครียดไปอีก ดังนั้นในคอลัมน์ Health ฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกข้อมูลทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์มาฝากท่านผู้อ่าน โดยเราจะมาทำความรู้จักกับขั้นตอนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตามหลักจิตวิทยาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นไปจนถึงช่วงเสื่อมถอยของความสัมพันธ์กันเลย ว่าแล้วก็อย่ามัวรอช้า มาติดตามกันเลยค่ะ!

ตามทฤษฎีของ Wood (Wood’s model) ได้แบ่งระยะของความสัมพันธ์ออกเป็น 2 ช่วงหลักๆ คือ “ช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์” และ “ช่วงเสื่อมถอยของความสัมพันธ์” โดยช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์ หรือช่วงที่ความสัมพันธ์เติบโตนั้น สามารถแบ่งออกเป็นระยะย่อยๆ ดังนี้

ระยะที่ 1 : Individuals คำว่า individual แปลกันแบบตรงตัวว่า “ปัจเจกชน” พูดง่ายๆ ก็คือเป็นระยะของคนโสดค่ะ เป็นช่วงเวลาที่คนเราจะแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ ใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ของตนเองเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นความคิด มุมมอง รสนิยม รู้จักพัฒนาตนเอง ใจกว้างและพร้อมเปิดรับแนวคิดต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน บางรายอาจมีความรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ภายในใจ

ระยะที่ 2 : Auditioning หรือ Initiation เป็นช่วงที่คนเราต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์ โดยพยายามมองหาบุคคลที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ และใช้ความพยายามเพื่อให้ความสัมพันธ์เกิดขึ้น หากพูดให้เห็นภาพก็คือเป็นช่วงที่เรารู้สึกอยาก “จีบ” ใครบางคนอย่างแรงกล้าและพยายามหาโอกาสสานสัมพันธ์ พยายามทำตัวให้อยู่ในสายตาคนที่ชอบ ชวนคุย หรือใช้อีกร้อยแปดพันวิธีเพื่อนำเสนอตัวเองออกมา หากความพยายามในระยะนี้ประสบความสำเร็จก็จะก้าวสู่ขั้นต่อไป

ระยะที่ 3 : Experimenting หรือ Exploration เมื่อคนสองคนพัฒนาความสัมพันธ์มาถึงระยะนี้ ทั้งสองฝ่ายจะแสวงหาประสบการณ์และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อเรียนรู้ตัวตนของอีกฝ่าย ค้นหาความคล้ายคลึงกันหรือที่เรียกว่า “ความเข้ากันได้” พูดให้ง่ายหน่อยคืออยู่ในขั้น “คนที่กำลังคุยๆ” นั่นเอง ความสัมพันธ์ในระยะนี้ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะเป็นช่วงสำคัญที่ชี้วัดว่าจะ “ไปต่อ” ได้หรือไม่ หลายคู่มักต้องยุติความสัมพันธ์ลงเมื่อมาถึงระยะนี้

ระยะที่ 4 : Intensifying หรือ Euphoria หากคนสองคนสามารถข้ามผ่านช่วงเปราะบางในระยะที่ 3 มาได้ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ความสัมพันธ์สุกงอมหอมหวาน คนทั้งคู่รู้สึกเข้ากันได้ดี รู้จักรู้ใจ ใส่ใจกันมากขึ้น พยายามหาทางอยู่ใกล้ชิดกัน พร้อมรับฟังเรื่องราวของอีกฝ่าย สายตาของทั้งคู่ต่างจ้องมองที่กันและกันเท่านั้น

ระยะที่ 5 : Integrating เมื่อถึงระยะนี้ คนสองคนจะเริ่มมีความรู้สึกบางส่วนที่หลอมรวมกัน แต่ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้อยู่

ระยะที่ 6 : Bonding คือจุดสูงสุดแห่งวงจรการเติบโตของความสัมพันธ์ นั่นคือการตกลงปลงใจที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งกายและใจ จากคำว่า “ฉัน” และ “คุณ” เปลี่ยนเป็นคำว่า “เรา” และพร้อมประกาศความสัมพันธ์ให้ผู้อื่นได้รับรู้

อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมี 2 ด้าน เมื่อระดับความสัมพันธ์พัฒนาไปถึงจุดสูงสุดแล้ว ความสัมพันธ์นั้นก็อาจเริ่มไปสู่ “ช่วงเสื่อมถอยของความสัมพันธ์” ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 : Differentiating จากที่เคยหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงเสื่อมถอย ทั้งคู่จะเริ่มรู้สึกถึง “ความแตกต่าง” และกลับไปนึกถึงขอบเขตของตนเองอีกครั้ง รู้สึกว่า “นี่ของฉัน นั่นของคุณ” มากกว่าคำว่า “เรา”

ระยะที่ 2 : Circumscribing เมื่อความเสื่อมถอยเริ่มแรกไม่ได้รับการเยียวยาก็จะก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทั้งคู่ยิ่งชัดเจน มีหัวข้อสนทนาหรือเรื่องบางเรื่องที่เป็นหัวข้ออันตราย ห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวถึงเป็นอันขาด มิฉะนั้นอาจเกิดความขุ่นเคืองหรือทะเลาะวิวาทได้ 

ระยะที่ 3 : Stagnation ทั้งสองฝ่ายเกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่าย เอือมระอากันและกัน จนแสดงออกมาให้เห็น ทั้งสองฝ่ายรู้สึกตรงกันว่าความรักไม่หอมหวานเหมือนเดิม แต่ไม่มีใครอยากพูดคุยหรือแก้ไข เป็นสัญญาณอันตรายของการพร้อมจะปล่อยให้อีกฝ่ายไป

ระยะที่ 4 : Avoiding เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ยิ่งดิ่งเหว สองฝ่ายอึดอัดที่จะเจอหน้า ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ เลี่ยงที่จะพบเจอกันหากทำได้ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องพบกัน ก็จะแสดงความลำบากใจและไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด

ระยะที่ 5 : Terminating เป็นระยะที่สองฝ่ายแยกกันอยู่ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันอีกต่อไป ทั้งคู่ทำใจได้กับความสัมพันธ์ที่กำลังจะสิ้นสุดลง พร้อมที่จะเข้าสู่ระยะ Individuals (ระยะแรกของความสัมพันธ์) หรือการกลับไปเป็นคนโสด วนลูปไปยังระยะเริ่มต้นความสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่ง เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนทั้งในด้านความคิดและอารมณ์ ความเข้าใจและการรู้จักปรับตัวจะทำให้คนสองคนซึ่งมีความแตกต่างสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ หากจะรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว ทั้งสองฝ่ายต้องปรับตัวปรับใจเพื่อให้เข้าใจอีกฝ่ายอย่างถ่องแท้ โดยมีความรักเป็นตัวยึดเหนี่ยว ขณะเดียวกัน ในวันที่เราเหน็ดเหนื่อยกับความสัมพันธ์และต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินความสัมพันธ์ต่อไปอย่างไร จงอย่าลืมที่จะใช้สติ เหตุผล ความเข้าอกเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจต่ออีกฝ่าย มาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจด้วย อย่าใช้อารมณ์เพียงอย่างเดียว 

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับความสัมพันธ์ที่ดีนะคะ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ 


แหล่งข้อมูล 
- เนื้อหาบางส่วนจากวิชาจิตวิทยาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
- http://folkswaken.exteen.com/20140812/wood-8217-s-model-stages-of-relationships 




ข้อมูลจาก :
วารสาร HR Society Magazine ฉบับเดือนสิงหาคม 2559
Health : บทความ สจจนิรดา


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ