การปรับปรุงรายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการของ IAASB โดยการปรับเอาวรรคความเห็นขึ้นมาไว้เป็นวรรคแรก เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินทราบข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์สภาพธุรกิจ และให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้อย่างแท้จริง

นอกจากนั้นแล้วการเพิ่มวรรค “เรื่องสำคัญในการตรวจสอบ (Key Audit Matter : KAM)” เป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญ เพราะการระบุความเสี่ยงจะช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจสภาพทั่วไปและความเสี่ยงของธุรกิจได้ดีขึ้น

นอกจากนั้นแล้วการเพิ่มรายงานของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับ “การดำเนินงานต่อเนื่อง”  ในการระบุความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้สอบบัญชี เกี่ยวกับการดำเนินงานต่อเนื่อง และการกำหนด “วรรคความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง” ในกรณีที่มีเหตุการณ์อันเป็นที่สงสัยอย่างมีนัยสำคัญ

KAM เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มีความสำคัญมากที่สุด ลดช่องว่างของข้อมูลและเพิ่มประสิทธิผลของการสื่อสาร โดยจะแสดงวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง การวิเคราะห์เปิดเผยข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลในแต่ละวรรค

อาทิ ประเด็นการดำเนินงานต่อเนื่อง จำต้องพิจารณาทั้งวรรคความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง วรรคความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล วรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นควบคู่กับข้อมูลภายนอกและข้อมูลภายในงบการเงิน ซึ่งจะใช้ดุลยพินิจของผู้สอบบัญชีพิจารณาควบคู่ไปด้วย เพื่อสื่อสารให้ผู้ใช้งบการเงินมองเห็นภาพของฐานะทางการเงินของบริษัทได้ครบทุกมุมมอง ชัดเจน และเป็นจริง

การพิจารณาว่าเรื่องใดเป็น KAM

ขั้นตอนที่ 1 พิจารณาว่าเรื่องใดเป็น “เรื่องที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษจากผู้สอบบัญชี” จากเรื่องที่เคยสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลทั้งหมด

ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาว่าเรื่องใดเป็น “เรื่องที่มีนัยสำคัญที่สุด” ในการตรวจสอบงวดปัจจุบัน จาก “เรื่องที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษจากผู้ตรวจสอบบัญชี” ที่ระบุได้ในขั้นตอนที่ 1

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบเงื่อนไขที่ไม่สามารถแสดง “เรื่องที่มีนัยสำคัญที่สุด” ที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 เป็น KAM ในรายงานของผู้สอบบัญชี

เป็นที่รู้กันดีสำหรับผู้ใช้งบการเงินว่า งบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้วย่อมน่าเชื่อถือกว่างบการเงินที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเนื้อหาของรายงานผู้สอบบัญชีอาจคล้ายกันหมด จนทำให้ผู้ใช้งบการเงินมุ่งไปที่ความเห็นของผู้สอบบัญชี โดยมองข้ามรายงานผู้สอบบัญชี ซึ่งหลังจากมีการปรับปรุงรายงานของผู้สอบบัญชีฉบับใหม่แล้ว ผู้ใช้งบการเงินจึงควรพิจารณาในส่วนของรายงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ววิเคราะห์ควบคู่ไปกับสภาพแห่งธุรกิจ เพื่อประโยชน์ในการใช้งบการเงินให้มีประสิทธิภาพรอบด้านมากขึ้น

ที่มา
• หนังสือ “แกะงบการเงินสไตล์ VI” โดย สรรพงศ์ ลิมป์ธำรงกุล
• บทความวิชาการ “ประเด็นสำคัญและการประยุกต์แนวคิด เรื่องสำคัญในการตรวจสอบ” โดย ดร.ชาญชัย ตั้งเรือนรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการบัญชีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต 
• เอกสาร “รายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่ ช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบงบการเงิน” ของสภาวิชาชีพบัญชี
• เอกสารงานแถลงข่าว FAP meet the press ครั้งที่ 2 เรื่อง “จากนี้ไปรายงานผู้สอบบัญชี...จะเป็นเรื่องแรกที่ทุกคนต้องอ่าน”




สจจนิรดา : special : บัญชี
วารสาร : CPD&ACCOUNT มิถุนายน 2560