ระบบฐานข้อมูลที่ปรึกษาไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลของที่ปรึกษาไทยและนำไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนและส่งเสริมที่ปรึกษาไทย ให้สามารถแข่งขันและมีโอกาสรับงานมากขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการให้บริการและความสามารถของที่ปรึกษาไทย

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารทิปโก้ ชั้นที่ 32 ถนนพระราม 6 จะเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบภารกิจดังกล่าวนี้ ซึ่งการรับจดทะเบียนจะแบ่งออกได้เป็น  4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ บริษัทที่ปรึกษาประเภท A, ที่ปรึกษาอิสระ, บริษัทที่ปรึกษาระดับภูมิภาคและที่ปรึกษาอิสระระดับภูมิภาค

สำหรับขั้นตอนในการยื่นจดทะเบียนก็ไม่ยุ่งยากนะครับ เพียงแต่จะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการเตรียมข้อมูลและเอกสารประกอบต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งในกรณีเป็นนิติบุคคลจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ทั้งสองประเภท คือเป็นบริษัทที่ปรึกษาประเภท A และบริษัทที่ปรึกษาระดับภูมิภาค โดยมีหลักเกณฑ์พื้นฐานเหมือนกัน ได้แก่ การจดทะเบียนเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นสถาบันการศึกษา ในประเทศไทย (3 ปีขึ้นไป สำหรับระดับภูมิภาค) สำหรับที่ปรึกษาอิสระ จะต้องเป็นที่ปรึกษามีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี รวมทั้งการสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่ทางการยอมรับ ในกรณีของที่ปรึกษาอิสระระดับภูมิภาค จะต้องมีความชำนาญภาษาอังกฤษ และสามารถเขียนรายงานภาษาอังกฤษได้ดี และการเป็นที่ปรึกษาอิสระจะต้องไม่เป็นพนักงานประจำของบริษัทหรือหน่วยงานใดๆ รวมทั้งจะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย เท่านั้น

เมื่อศึกษาคุณสมบัติต่างๆ เรียบร้อยแล้วก็ดำเนินการกรอกข้อมูลผ่านเว็ปไซด์ www.thaiconsult.pdmo.go.th และจัดส่งเอกสารประกอบการจดทะเบียนมายังเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนดครับ ข้อแนะนำคือการจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์จะเสียเวลามากกว่าอีกทั้งในกรณีที่เอกสารผิดพลาด จะต้องมีการส่งกลับไปกลับมา แต่ถ้าสะดวกและมีเวลาเพียงพอ น่าจะเดินทางมายื่นเอกสารด้วยตนเองจะดีมากกว่าครับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบความถูกต้องได้ทันที และกรณีพบข้อผิดพลาดของเอกสาร เราสามารถรับกลับไปและนำมาส่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เป็นการประหยัดเวลา

ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยจะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติภายในกำหนดระยะเวลา 22 วัน หลังจากที่เราดำเนินการจัดส่งเอกสารประกอบครบถ้วนแล้วและเมื่อได้รับการอนุมัติ ก็สามารถรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทยได้ภายใน 7 วัน

ประโยชน์ของการขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษา อาทิ

• ส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่ที่ปรึกษา โดยเป็นแหล่งสนับสนุนข้อมูลและข่าวสารของที่ปรึกษาให้แก่ผู้ลงทุนและที่ปรึกษา

• สนับสนุนให้ที่ปรึกษาได้รับการขึ้นทะเบียนในองค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนที่ปรึกษาให้สามารถรับงานในต่างประเทศได้

• เป็นแหล่งสนับสนุนข้อมูล ให้แก่ วงการที่ปรึกษาในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เข้าร่วมงาน

สุดท่ายนี้ก็ขอให้ปรึกษาทุกท่านโชคดี และประสบความสำเร็จทุกประการครับ



สันติ ประพันธ์ : CLASSIFIED : LIFESTYLE
วารสาร : CPD&ACCOUNT มิถุนายน 2560