เชื่อว่าคุณผู้อ่านแทบทุกคนคงเคยผ่านหูผ่านตากับข่าวการขอรับบริจาคโลหิตกรุ๊ปต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยที่มีความต้องการโลหิต แต่เมื่อมาพิจารณาว่าตนเองสามารถไปบริจาคได้หรือไม่ ก็ชักเริ่มไม่ค่อยมั่นใจ เนื่องจากไม่ทราบถึงรายละเอียดต่างๆ ทั้งคุณสมบัติของผู้บริจาค การเตรียมตัว สถานที่รับบริจาค ฯลฯ คอลัมน์ Health ในฉบับนี้ จึงขอนำสาระความรู้เกี่ยวกับการบริจาคโลหิตมานำเสนอแก่ผู้อ่าน เพื่อที่จะได้เช็กความพร้อมและเตรียมร่างกายได้อย่างเหมาะสมค่ะ

เช็กคุณสมบัติกันก่อน
ก่อนที่จะไปบริจาคโลหิต ผู้บริจาคต้องตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองก่อนค่ะว่า สามารถบริจาคได้หรือไม่ ดังนี้
• อายุระหว่าง 17 - 70 ปีบริบูรณ์ (สำหรับผู้บริจาคที่มีอายุ 17 ปี จะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง ดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือยินยอมได้จากเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย)
• มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 45 กิโลกรัม
• ไม่มีอาการท้องเสีย-ท้องร่วงในช่วง 7 วันที่ผ่านมา และไม่อยู่ในช่วงน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา
• หากเป็นคุณสุภาพสตรี ต้องไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
• หากรับประทานยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดอื่นๆ ต้องหยุดยามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 วัน และหากเป็นยาแก้อักเสบ ต้องหยุดยาไม่น้อยกว่า 7 วัน
• ไม่เป็นโรคหอบหืด โรคผิวหนังเรื้อรัง วัณโรค หรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต มะเร็ง ไทรอยด์ โลหิตออกง่าย-หยุดยาก 
• ก่อนมาบริจาคโลหิต หากมีการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน รักษารากฟัน ต้องทิ้งระยะอย่างน้อย 3 วัน และหากเคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ต้องทิ้งระยะเกิน 6 เดือน ผ่าตัดเล็กต้องทิ้งระยะเกิน 1 เดือน
• ผู้บริจาคและคู่ครองต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ และไม่มีประวัติยาเสพติด 
• หากผู้บริจาคมีการเจาะหู สักหรือลบรอยสัก หรือมีการฝังเข็มเพื่อการรักษา จะต้องทิ้งระยะเกิน 1 ปี
• หากมีประวัติเจ็บป่วยและได้รับโลหิตของผู้อื่น ต้องทิ้งระยะเกิน 1 ปี และต้องไม่ได้รับวัคซีนในระยะ 14 วัน หรือได้รับเซรุ่มในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา 

ไปบริจาคโลหิตที่ไหนดี?
สำหรับผู้ที่สนใจจะบริจาคโลหิต สามารถไปบริจาคได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน คือ วันจันทร์ พุธ และศุกร์ 08.00-16.30 น. วันอังคารและพฤหัสบดี 07.30-19.30 น.วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 08.30-15.30 น. นอกจากนี้ ผู้บริจาคที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยังสามารถเดินทางไปบริจาคได้ที่ สาขาบริหารโลหิต ในโรงพยาบาลจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลภูมิพลฯ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลราชวิถี รวมถึงหน่วยรับบริจาคเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทยที่ตระเวนออกรับบริจาคในหลายสถานที่ตลอดทั้งเดือน (เช็กเวลาและสถานที่รับบริจาคโลหิตได้ที่ https://www.redcross.or.th/calendar-blood/) และผู้บริจาคที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด สามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศค่ะ

การเตรียมตัวและดูแลร่างกาย...ก่อน-ระหว่าง-หลังการบริจาค

ก่อนบริจาคโลหิต
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต
• รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนบริจาคโลหิต โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารที่ประกอบด้วยกะทิ ของทอด ของหวาน ฯลฯ เนื่องจากอาจทำให้สีของพลาสมาผิดปกติและไม่สามารถนำไปใช้ได้
• ควรดื่มน้ำประมาณ 3-4 แก้วในช่วงเวลา 20-30 นาทีก่อนการบริจาคโลหิต เพื่อช่วยป้องกันการเป็นลม
• งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง และงดสูบบุหรี่ 1 ชั่วโมง ก่อนการบริจาคโลหิต

ขณะบริจาคโลหิต
• ทำตัวตามสบาย ไม่วิตกกังวลหรือกลัวจนเกินไป
• ขณะบริจาค ผู้บริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยให้โลหิตไหลได้สะดวก และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น วิงเวียน หน้ามืด รู้สึกเหมือนเป็นลม ใจสั่น หรือมีอาการชาหรือเจ็บแบบผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที

หลังบริจาคโลหิต
• เมื่อบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยแล้วควรนอนพักบนเตียงสักครู่ จนรู้สึกสบายดีจึงค่อยลุกไปดื่มน้ำและรับประทานอาหารว่างที่ทางหน่วยรับบริจาคจัดเตรียมไว้รับรอง ห้ามลุกจากเตียงทันทีเพราะอาจทำให้เวียนศีรษะและเป็นลมได้
• หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงอย่างหนักหรือเสียเหงื่อมาก หลังบริจาคโลหิต เช่น การทำงานหนัก การออกกำลังกาย การอบซาวน่า และผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูงหรืองานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพักอย่างน้อย 1 วัน
• รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและรับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่วันละ 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก


LIFESTYLE : HEALTH : Miss Sunshine
วารสาร : HR Society Magazine สิงหาคม 2560