กล่าวถึงมาตรการบัญชีชุดเดียวที่กรมสรรพากรได้มีประกาศพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับ
ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรา
และยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการบัญชีชุดเดียวและการยกเว้นและลดอัตรา
ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี SMEs โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด
ในหรือก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาท และจดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพ
ที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีชุดเดียว) ต่อกรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง โดยกรม
สรรพากรเปิดให้มีการจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
http://www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2559 -15 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมาแล้วนั้น  พร้อมกับมาตรการยกเว้นภาษีเพื่อ
รองรับการปรับตัวของผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมา 

ที่ต้องย้อนไกลเพื่อให้ทราบความเป็นมาของเหตุการณ์  มาตรการดังกล่าวเปิดโอกาสให้กิจการนิติบุคคลสำรวจตนเองว่า
ยังมีข้อบกพร่องผิดพลาดจากการบันทึกบัญชีให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง และให้สัตยาบันว่าจะไม่มีการทำบัญชีหลายชุด
ในอนาคต ไม่มีการปิดบังซ่อนเร้น หรือตกแต่งรายการบัญชีอีก คือต่อไปนี้จะต้องทำให้ถูกต้องนั่นเอง 

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ผ่านมาเป็นเวลา 2-3 ปี ที่กิจการได้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดและบกพร่องตามพระราชกำหนดฉบับที่
กล่าวมา และตามเนื้อหาของข้อกำหนดในพระราชกำหนดกิจการเหล่านั้นจะต้องทำบัญชีให้ถูกต้องแล้ว  แต่กรมสรรพากร
ยังเชื่อว่ายังมีกิจการที่ยังละเลยในการปฏิบัติให้ถูกต้องหรือไม่แน่ใจจึงได้มีการออกกฎหมายมาใหม่ในปี 2562

พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และความรับผิดทางอาญา
กรมสรรพากร ได้ออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการเป็นไปตาม
พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร
ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม
ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ 

1) มีรายได้ทางภาษีไม่เกิน 500 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรที่เกิดขึ้นในรอบ
ระยะเวลาบัญชีสุดท้ายซึ่งมีกำหนดครบ 12 เดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือใน
วันที่ 30 กันยายน 2561
2) ได้มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ตาม 1) ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
3) ไม่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำ
ความผิดอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษีตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ 

โดยผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนเพื่อจะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และต้องยื่นแบบ
แสดงรายการภาษีอากร หรือยื่นขอเสียภาษีอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน
ทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 อย่างไรก็ตามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับและเงิน
เพิ่ม ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี สำหรับภาษีอากรทุกประเภทตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร
ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครบถ้วน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 

สำหรับการบันทึกบัญชีของกิจการที่ไม่ถูกต้องในอดีตจะมีวิธีแก้ไข หรือปรับปรุงให้ถูกต้องนั้น  กรมสรรพากร สภาวิชา
ชีพบัญชีฯ และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมมือกันให้สภาวิชาชีพบัญชีฯ จัดทำตัวอย่างการปรับปรุงรายการและเปิดเผย
รายการในงบการเงินเพื่อประกอบความเข้าใจ ซึ่งจะช่วยให้กิจการนำไปปรับใช้ในการปรับปรุงบัญชี และงบการเงินของ
บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยเป็นเพียงตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยเพื่อประกอบความเข้าใจเท่านั้น และมี
ผลกระทบต่อกำไรหรือขาดทุน แต่อาจไม่ครอบคลุมสถานการณ์ทั้งหมด  กิจการทั้งหลายที่จะดำเนินการตามแนวทางนี้จึง
ต้องพิจารณารายการปรับปรุงทางบัญชีที่เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดมีเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีที่เชื่อถือได้หรือไม่

   
      บางส่วนจากบทความ “แก้ไขข้อผิดพลาดกับมาตรการบัญชีชุดเดียว”
      อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 453 เดือนมิถุนายน 2562




Smart Accounting : Accounting Update : ดร.สิงห์ชัย อรุณวุฒิพงศ์
วารสาร : เอกสารภาษีอากร มิถุนายน  2562