นายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามกฏหมาย ลูกจ้างได้รับ

สิทธิประโยชน์ครบถ้วน

 

     นับตั้งแต่วันที่คุณเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้ง ขึ้นทะเบียนลูกจ้างผู้ประกันตน กับสำนักงานประกันสังคม โดยสถานประกอบการที่มีลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ในแบบ สปส.1-03 และ สปส. 1-03/1 กับสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงานไม่มีข้อยกเว้นว่าการจ้างนั้นจะเป็นแค่การทดลองงาน ซึ่งลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ จากสำนักงานประกันสังคม ทั้ง 2 กองทุนได้แก่ กองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคม

 

     กองทุนเงินทดแทนจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยจัดเก็บเงินสมทบ จากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว ในอัตราเงินสมทบตั้งแต่ร้อยละ 0.2-1.0 ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยตามลักษณะประเภทกิจการ เงินสมทบคิดจากค่าจ้าง ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนรวมกันทั้งปีคูณด้วยอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการนั้น ซึ่งจะจ่ายในอัตราที่ไม่เท่ากัน โดยนำส่งเงินสมทบปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มกราคม ของทุกปี ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปี ติดต่อกันและในปีที่ 5 เป็นต้นไป จะมีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสียเพื่อลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบ ให้นายจ้าง ซึ่งหากนายจ้าง จัดให้มีความปลอดภัยในการทำงานที่ดี ลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานน้อยก็จะได้ลด อัตราค่าประสบการณ์ ได้สูงสุดถึงร้อยละ 80 ของอัตราเงินสมทบหลัก โดยเงินสมทบที่จัดเก็บนั้น จะนำมาจ่ายเป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งมีผลทำให้ต้องหยุดงานหรือสูญเสียอวัยวะบางส่วนทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือสูญหาย โดยลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนการขาดรายได้ ค่าทำศพและค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ทั้งนี้ลูกจ้างมีสิทธิเข้าการรับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน สำนักงานประกันสังคมซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการ 2 แห่ง คือ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 


     สำหรับกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนในสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ซึ่งได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตายที่ไม่เนื่องจากการทำงาน กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และว่างงาน ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 5 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามความเป็นจริง ซึ่งการคำนาณเงินสมทบกำหนดให้คำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำ 1,650 บาท และขั้นสูงสุด ไม่เกิน 15,000 บาท เงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างแต่ละคนในแต่ละเดือน ต่ำสุด 83 บาท และ สูงสุด750 บาท (ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน จากเดิมฝ่ายละ ร้อยละ 5 เป็นฝ่ายละ ร้อยละ 3 ตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม ถึงงวด เดือนธันวาคม พ.ศ.2552 (เป็นเวลา 6 งวดเดือน) เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้นายจ้างและผู้ประกันตน ในการลดค่าครองชีพตามมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม ของกระทรวงแรงงาน)      

 

     หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้างจะต้องรีบแจ้ง การเปลี่ยนแปลงข้อมูลตามข้อเท็จจริงของนายจ้างและผู้ประกันตนกับ สำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น กรณีที่มีลูกจ้างลาออกจากงานให้นายจ้างแจ้งการลาออก โดยใช้หนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) พร้อมทั้งระบุสาเหตุการออกจากงาน และกรณีผู้ประกันตน เปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุลหรือข้อมูลสถานภาพครอบครัวรวมถึงข้อมูลจำนวนบุตร ให้ใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน (สปส.6-10) สำหรับการแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง เช่น กรณีเปลี่ยนชื่อกิจการเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง/สาขา หรือยกเลิกกิจการ ฯลฯ ใช้หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส.6-15) ยื่น ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง


     สำนักงานประกันสังคมขอความร่วมมือนายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมาย โดยเฉพาะการ แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง เมื่อมีลูกจ้าง/ผู้ประกันตนเข้า-ออกงาน ตามเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิให้แก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้หากนายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนและแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ฐานข้อมูลผู้ประกันตน ซึ่งเป็นข้อมูลหลักที่ใช้ในการปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์หรือได้รับสิทธิประโยชน์ล่าช้า

 

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ