“รากบุญ” บริบทของงาน HR ในองค์กร

 

93619612

 

 

     เมื่อพูดถึงงานบุคคลในองค์กรแล้ว พนักงานในองค์กรคงนึกถึงภาพคุณนายและคุณระเบียบ จอมเนี๊ยบที่คอยควบคุมตรวจสอบให้พนักงานอยู่ในกฎระเบียบข้อบังคับขององค์กรอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งนั่นเป็นเพียงแค่บทบาทหนึ่งในหลายๆ ด้าน ที่งานบุคคลต้องทำ  บางครั้งก็หนีไม่พ้นที่จะถูกนินทาลับหลังถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  จนบางครั้งก็แอบเอาไปคิดว่า สิ่งที่เราทำทุกอย่างลงไปก็เพื่อพนักงานทุกคน เพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์กร หากท่านกำลังพบกับเหตุการณ์ ข้างต้น ผมขอให้พวกเราชาวHR ปรับทัศนะคติในงานของเราง่ายๆ ว่าเราชาว HR  เป็น “ รากบุญ ” ขององค์กร เราจะรู้สึก สุขกาย สบายใจมากขึ้น ดั่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต การไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก”

     158757681“ รากบุญ ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กล่องวิเศษที่มัจจุราชสร้างมาเพื่อให้อธิฐานเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการโดยแลกกับ เงื่อนไขที่กล่องรากบุญสร้างมา  ในละครหลังข่าวที่เพิ่งลาจอไป  คำว่า “รากบุญ” ในที่นี้ คือ รากของความดีที่ฝังแน่นเป็นรากฐานขององค์กรนั่นเอง

    หากเอ่ย ถึง “ราก” เรามักนึกถึงอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งของพืช ซึ่งหากพืชไม่มีรากก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้  ถ้าเปรียบองค์กรเหมือนดอกทานตะวัน จะมีสักกี่คนสนใจ “ราก” ของต้นทานตะวันว่ามันมีรูปร่างเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่มักจะสนใจส่วนที่เป็นดอกของทานตะวันซึ่งเป็นส่วนที่สวยงาม ต่างกับรากที่มีความสำคัญแต่คนไม่สนใจที่จะมอง“งานบุคคล” ซึ่งเป็นงานรากฐานขององค์กรก็คงไม่ต่างจากรากดอกทานตะวัน

     ส่วนคำว่า “บุญ”นั้น  เรามักได้ยินคำพูดติดปากว่า “ทำบุญ  ทำทาน” ซึ่งเป็นคำพูดที่เราได้ยินกันมานานนม  อันที่จริงแล้ว คำว่า “บุญ”มีผู้นิยามไว้หลากหลายความหมาย ผมขอยกเอาความหมายที่น่าสนใจ จากหนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ โดยให้ความหมายของ “บุญ” ไว้ดังนี้  “บุญ” หมายความว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น  บุญเป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจ พอใจ ชอบใจ เช่นทำบุญตักบาตร  การให้ทาน หรือรักษาศีล แล้วฟูใจ อิ่มเอิบ

    การทำ “บุญ” ทุกคนมักจะคิดถึงการให้”ทาน”เป็นอย่างแรก เพราะการให้ทานทำได้ง่ายที่สุด แต่เป็นการทำบุญประเภทเดียวที่ต้องอาศัยทรัพย์  ทางพุทธศาสนาเรียกทางแห่งการทำบุญกุศลว่า “บุญกริยาวัตถุ” ซึ่งเราปฏิบัติอยู่ทุกอยู่ในชีวิตประจำวัน

      ตอนเช้าตอนอรุณรุ่งสาง ตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแล้วจะทำบุญตักบาตร เราถือว่าเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี  ซึ่งการตักบาตรนี้ก็ถือเป็นบุญอันเกิดจากการให้ทาน ซึ่งจากความหมายของทานนั้น หมายถึง การสละ การเผื่อแผ่ แบ่งปัน วัตถุที่ควรให้ด้วยความเมตตา โดยอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ ขาดแคลน

      อานิสงส์* ของการให้ “วัตถุทาน” โบราณท่านว่าไว้ ดังนี้ การให้ ข้าว น้ำ ชื่อว่าให้กำลังวังชาแก่ผู้รับ การให้ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชื่อว่า ให้ผิวพรรณวรรณะ การให้ ยานพาหนะ ชื่อว่า ให้ความรู้ การให้ ประทีปโคมไฟ ชื่อว่า ให้ดวงตา การให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่า ให้ทุกอย่าง ทั้ง กำลังวังชา ผิวพรรณวรรณะ ให้ความรู้และดวงตา สังเกตไหมครับว่าหลังจากเราตักบาตรเสร็จแล้ว เราจะรู้สึกฟูใจ

86802123

    บทบาทของฝ่ายบุคคลในองค์กรนั้น  คือการดูแลทุกข์ สุข ของพนักงาน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำตลอดระยะเวลาการทำงาน  มอบความรู้เพิ่มพูนประสบการณ์  พัฒนาทักษะ ความสามารถให้กับพนักงาน  คอยดูแลเมื่อพนักงานเจ็บไข้ได้ป่วย ล้มหมอนนอนเสื่อ  โดยถือว่าพนักงานทุกคนเป็นญาติของเรา  องค์กรเป็นบ้านหลังที่สองของเรา ด้วยเจตนาอันเป็นกุศล ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “สนฺโต สตฺตหิเต รตา  คนดี  ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น” ซึ่งการปฏิบัติของฝ่ายบุคคลเสมือน “บุญ” ที่สำเร็จด้วยการให้ การเสียสละเพื่อส่วนรวมด้วยจิตอาสาในการช่วยเหลือผู้อื่น  กิจการงานต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็น”บุญ”ทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “เวยยวัจมัย”  บทบาทของงานบุคคลถือว่าเป็น “รากบุญ”อันเป็นหน้าที่ประจำวัน ”รากบุญ”นี่เองที่จะเป็นรากฐานที่มั่นคงขององค์กรอย่างยั่งยืนสืบไป

    บุญแท้จริงแล้วไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลและครับอยู่ในการปฏิบัติงานของงานบุคคลอันสอดคล้องกับหลักบุญกริยาวัตถุ เปรียบเป็นการทำบุญที่ถูกต้องตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา  โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายฉะนั้นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในฝ่ายบุคคลทุกท่านสามารถที่จะสั่งสมบุญได้มากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ประจำวัน แต่ที่สำคัญต้องประกอบไปด้วยเจตนาถึงพร้อมกับการกระทำด้วยนะครับ ทราบอย่างนี้แล้วหวังว่าท่านผู้อ่านจะมีกำลังใจปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานทุกประการครับ

 

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ