การหยุดงานเพื่อ ชุมนุมทางการเมือง เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่



คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีความแตกแยกในเรื่องความคิดทางการเมืองในสังคมไทยอย่างมาก ซึ่งในทางทฤษฎีก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่การขัดแย้งทางความคิดในทางการเมืองในประเทศไทยดูจะเกินเลยขอบเขตไปมาก และได้บานปลายจนเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ผู้เขียนไม่มีความรู้และไม่ค่อยสัดทัดในเรื่องการเมืองนัก จึงไม่อาจแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้ แต่มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงาน ในประเด็นที่ว่าหากลูกจ้างหยุดงานเพื่อเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองจะเป็นการละทิ้งหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ จึงขอนำเสนอแง่มุมด้านกฎหมายแรงงานในบทความนี้

1. ลูกจ้างมีหน้าที่ทำงาน นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงาน
ดังที่ทราบกันดีว่า จ้างแรงงานป็นสัญญาที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้างและนายจ้างตกลงจ่ายสินจ้างตอบแทนการทำงานให้ สัญญาเช่นนี้เรียกว่าสัญญาต่าตอบแทน(reciprocal contract) มีผลให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้โต้ตอบกัน กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ต้องทำงานในวันและเวลาทำงานให้แก่นายจ้าง โดยทั่วไปจะทอดทิ้งไม่ทำงานให้แก่นายจ้างไม่ได้ ถือว่าผิดหน้าที่ เมื่อลูกจ้างทำงานตามหน้าที่ของตนแล้ว นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้าง อาจเป็นเหตุให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหยิบยกเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาจ้างได้

การที่ลูกจ้างไม่มาทำงานให้แก่นายจ้างตามที่ตกลงไว้ ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 กำหนดหน้าที่ของลูกจ้างและบทลงโทษไว้ว่า “ถ้าลูกจ้าง....ละทิ้งหน้าที่การงานไปเสียก็ดี....ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมแทนได้” นอกจากนี้ในภาคเอกชน พระราช บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ยังมีการกำหนดเป็นข้อยกเว้นของการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้....(5)ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร..” และในภาครัฐวิสาหกิจ ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 60 บัญญัติทำนองเดียวกับกฎหมายแรงงานภาคเอกชนว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้....(5)ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร..” ดังนั้น การละทิ้งหน้าที่อาจส่งผลก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง

2. อย่างไรถือว่า “ละทิ้งหน้าที่”
ปัญหาว่า อย่างไรจึงจะถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ คำตอบก็คือ การละทิ้งหน้าที่ หมายถึง ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้แก่นายจ้าง แล้วลูกจ้างไม่ยอมปฏิบัติงานตามหน้าที่ เช่น นายจ้างมีวันเวลาทำงานปกติ วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ระหว่าง 08.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา มีเวลาพักระหว่าง 12.00-13.00 นาฬิกา หากลูกจ้างไม่มาทำงานในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ตามเวลาทำงานที่กำหนดไว้ ย่อมถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เพราะลูกจ้างมีหน้าที่แล้วไม่ทำงานตามหน้าที่

หากลูกจ้างไม่มีหน้าที่ตามสัญญาจ้างหรือตามกฎหมายที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้าง การที่ลูกจ้างไม่อยู่ทำงานให้แก่นายจ้าง ย่อมไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ เช่น ลูกจ้างไม่มาทำงานในวันอาทิตย์ ย่อมไม่ละทิ้งหน้าที่ หรือลูกจ้างไม่ทำงานในเวลาพัก ไม่ทำงานล่วงเวลา หากไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว การที่ลูกจ้างไม่ทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่
อย่างไรก็ดี หากนอกวันและเวลาทำงานปกติ แต่นายจ้างเสนอให้ลูกจ้างทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว และลูกจ้างสนองรับที่จะทำงานให้แก่นายจ้าง ต้องถือว่าลูกจ้างมีหน้าที่แล้ว หากผิดข้อตกลงไม่มาทำงานนอกเวลาทำงานแกติตามที่ตกลงไว้กับนายจ้าง ก็ถือว่า ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เช่น ลูกจ้างตกลงมาทำงานในวันหยุดตามประเพณี เมื่อถึงวันหยุดดังกล่าวลูกจ้างไม่มาทำงาน โดยอ้างว่าเป็นวันหยุด ไม่มีหน้าที่ต้องมาทำงานไม่ได้ การที่ลูกจ้างไม่มาทำงานในวันหยุด ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 255/2528)
กรณีจะเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือไม่ อาจสรุปได้ดังนี้

  • ลูกจ้างขาดงาน ไม่มาทำงานในวันทำงาน โดยไม่ได้ลาให้ถูกต้อง ถือว่าละทิ้งหน้าที่ เช่น ลูกจ้างไม่มาทำงานวันที่ 8 และ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันทำงาน โดยไม่ลาให้ถูกต้องตามระเบียบ ถือว่าลูกจ้างขาดงานและละทิ้งหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 2771/2530)
  • ลูกจ้างป่วยเท็จ ถือว่าละทิ้งหน้าที่ ในกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยมาทำงานไม่ได้ การขาดงานเพราะเหตุดังกล่าว แม้อาจถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ แต่ก็มีเหตุอันสมควร แต่ถ้าลูกจ้างมิได้เจ็บป่วย แต่ไม่มาทำงานโดยอ้างว่าป่วย ซึ่งเป็นเท็จ ต้องถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เช่น ลูกจ้างแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาว่าป่วย จากนั้นเงียบหายไปและไม่ได้แจ้งว่าป่วยเป็นอะไร ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างมิได้ป่วย ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 329/2526)
  • ลูกจ้างลาผิดระเบียบ นายจ้างไม่อนุมัติการลา แต่ลูกจ้างยังคงหยุดงาน ถือว่าละทิ้งหน้าที่ การลาบางประเภทต้องขอลาล่วงหน้าและได้รับอนุมัติจากฝ่ายจัดการเสียก่อนจึงจะหยุดงานไปได้ หากลูกจ้างไม่ยื่นใบลาหรือยื่นล่วงหน้าไม่ถูกต้อง นายจ้างมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมให้ลา หากลูกจ้างยังคงหยุด ไม่มาทำงานในวันลาที่นายจ้างมิได้อนุมัติ ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เช่นลูกจ้างลาหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดว่าต้องยื่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาหื ลูกจ้างหยุดงานวันที่ 2 ถึง 15 กรกฎาคม โดยที่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติ ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1384/2525)
  • ลูกจ้างลงชื่อเข้าทำงาน แต่ไม่ทำงานตามหน้าที่หรือหลบหนีออกไปภายนอกสถานประกอบการในเวลาทำงาน ถือว่าละทิ้งหน้าที่ เช่น ลูกจ้างเป็นกรรมการลูกจ้างเข้ามาในสถานประกอบการของนายจ้าง มีการบันทึกเวลาเข้าและกลับจากงาน แต่ไม่เข้าทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ถือว่าละทิ้งหน้าที่(คำพิพากษาฎีกาที่ 3567-3568/2539) หรือเข้ามาในสถานประกอบแล้ว ในระหว่างเวลางานแอบออกไปดื่มสุราภายนอกสถานประกอบการระหว่างเวลา 22 ถึง 24 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลางาน ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ (คำพิพากษาฎีกาที่5860/2530)
    ดังนั้น หากลูกจ้างกระทำการดังกล่าวมาข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์ไปเข้าร่วมชุมนุมในทางการเมือง เช่น ออกจากสถานประกอบการในระหว่างเวลาทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายจัดการ เพื่อไปเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่

3. การละทิ้งหน้าที่โดยมีและไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเช่นใด
ในแง่ของกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างที่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเท่านั้น ที่จะเป็นการละทิ้งหน้าที่ที่นายจ้างอาจลงโทษทางวินัยหรือเลิกจ้างลูกจ้างได้ หากการละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นความผิด นายจ้างจะยกเป็นเหตุลงโทษทางวินัยหรือเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้

ปัญหาว่าการละทิ้งหน้าที่ มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

  • ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุสุดวิสัย ถือว่ามีเหตุอันสมควร เหตุสุดวิสัย หมายถึง เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ผู้ต้องประสบเหตุนั้น จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เช่น เหตุแผนดินไหว ธรณีพิบัติ ฯลฯ ทำให้การคมนาคมถูกตัดขาด หากลูกจ้างมาทำงานไม่ได้เพราะเหตุสุดวิสัยย่อมถือว่ามีเหตุอันสมควร
  • ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุทางร่างกาย ถือว่ามีเหตุอันสมควร เช่น ลูกจ้างเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ มาทำงานไม่ได้ ไม่ถือว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น ลูกจ้างขาดงานเพราะป่วย 3 วันทำงาน ไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่ 3วันทำงานดยไม่มีเหตุอันสมควร(คำพิพากษาฎีกาที่ 3004/2526)
  • ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุทางศีลธรรม ถือว่ามีเหตุอันสมควร เช่น ในระหว่างเดินทางมาทำงาน ลูกจ้างพบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีผู้บาดเจ็บ จึงนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ทำให้ขาดงานช่วงเช้าครึ่งวัน ไม่ถือว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุทางครอบครัว ถือว่ามีเหตุผลอันสมควร เช่น ลูกจ้างหยุดงานเพื่อดูแลลูกที่ป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล (คำพิพากษาฎีกาที่ 194/2530) ดูแลมารดาที่เจ็บป่วยมาก(คำพิพากษาฎีกาที่ 3651/2529) ไปร่วมงานศพมารดาสามี(คำพิพากษาฎีกาที่ 3698/2526) ไปร่วมจัดงานสมรสให้แก่บุตรสาวตามประเพณีท้องถิ่น(คำพิพากษาฎีกาที่ 4367/2530) ไม่ถือว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุทางสังคม ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร เหตุทางสังคม เช่น การหยุดงานไปร่วมงานแต่งงานเพื่อน ร่วมงานเลี้ยงฉลองทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช ฯลฯ หากละทิ้งหน้าที่เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวโดยไม่ลาให้ถูกต้อง ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุผลส่วนตัว ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร เช่น ลูกจ้างเป็นหญิงไม่มาทำงานเพราะถูกผุ้จัดการซึ่งเป็นชายดูหมิ่นว่าไปได้เสียกับชายที่มีภรรยาแล้ว ทำให้อับอายเพื่อนร่วมงาน ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับงาน เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร(คำพิพากษาฎีกาที่ 2799/2526)หรือลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เพื่อไปช่องทางการทำธุรกิจของตนในประเทศกัมพูชา ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร(คำพิพากษาฎีกาที่ 2610/2545)
  • ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุผลความคิดในทางการเมือง ถือว่ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ ปัญหาน่าคิดว่า หากลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เพื่อเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ตามความเชื่อในทางการเมืองของตน จะถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ ผู้เขียนเห็นโดยสุจริตว่า น่าจะถือเป็นเหตุผลส่วนตัว ลูกจ้างอาจเข้าร่วมชุมนุมหลังเลิกงานหรือในวันหยุดที่ไม่มีการทำงานได้ การละทิ้งหน้าที่ในวันและเวลาทำงานเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองน่าจะถือว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร อย่างไรก็ดี เท่าที่ตรวจสอบแนวคำพิพากษาฎีกายังไม่เคยมีคดีทำนองนี้ จึงสมควรรอฟังแนวคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป

4. ผลของการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร หากลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าลูกจ้างปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง
โดยทั่วไป หากการละทิ้งหน้าที่ที่ไม่ใช่ 3 วันทำงานติดต่อกัน นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ ในทางปฏิบัตินายจ้างจึงควรลงโทษทางวินัยที่ไม่มีผลเป็นการเลิกจ้าง เช่น การตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เป็นต้น การออกหนังสือเตือนน่าจะเป็นหนทางที่เหมาะสม ฝ่ายจัดการจะได้ประโยชน์ในเชิงการสื่อสารให้ลูกจ้างได้ทราบว่าการกระทำของเขาเป็นความผิด ไม่สมควรกระทำผิดเช่นนี้อีก หากทำผิดซ้ำคำเตือน ลูกจ้างอาจถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ฝ่ายลูกจ้างน่าจะได้ประโยชน์ใช้ความระมัดระวังไม่ไปกระทำผิตามหนังสือเตือนอีก เพื่อมีความมั่นคงในการทำงานต่อไป
หากลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร 3 วันทำงานติดต่อกัน เช่น ลูกจ้างขาดงานละทิ้งหน้าที่ไปร่วมชุมนุมวันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ โดยไม่ได้ลาให้ถูกต้อง ลูกจ้างที่ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกัน อาจเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าหยุดงานวันจันทรและวันอังคาร วันพุธมาทำงาน แล้วหยุดงานวันพฤหัสบดี ถือว่าละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานแต่ไม่ติดต่อกัน เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ กรณีมีวันหยุดมาคั่น เช่น ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ วันศุกร์ วันเสาร์และวันจันทร์ ถือว่าละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันแล้ว แม้ว่าจะมีวันหยุดคั่นก็ตาม
มีข้อควรทราบว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานหาได้บังคับนายจ้างให้เลิกจ้างลูกจ้างที่ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรเสมอไปไม่ ดังนั้น หากนายจ้างจะลงโทษทางวินัยที่เบากว่าการเลิกจ้างก็สามารถจะทำได้ ไม่ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด

5. บทสรุป
ถึงแม้ว่าความเชื่อในทางการเมืองเป็นเสรีภาพของบุคคล ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมายหรือสิทธิโดยชอบธรรมของบุคคลอื่น การขาดงานไปเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง ลูกจ้างทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐวิสาหกิจต้องพึงระมัดระวังด้วย

 

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ