สมัครและสัมภาษณ์อย่างไรจึงจะได้งาน
โดย กองบรรณาธิการ



ผมได้รับการติดต่อจากบริษัทธรรมนิติ ให้ช่วยเขียนบทความเกี่ยวกับการสมัครงานในฐานะที่มีทำในหน้าที่นี้โดยตรง ซึ่งผมได้ขอเปลี่ยนจากการเขียนบทความมาเป็นการเล่าประสบการณ์ที่ใช้ทำงานในการตามที่ทำจริงจะดีกว่า เพราะจะเป็นประโยชน์สำหรับรุ่นน้องใหม่ทั้งหลาย ยังเป็นการสร้างโอกาสที่จะหางานได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำตามความรู้สึกของตัวเองอยู่แล้ว สำหรับแนวความคิด เรื่องการสร้างโอกาสให้น้องๆ ได้มีโอกาสที่จะรับรู้ เทคนิคในการสมัครงานหรือหางานทำ ให้ทัดเทียมกับคนอื่นนั้น ต้องขอขอบคุณครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่านที่ได้ให้โอกาสผมในฐานะนักศึกษา เข้าช่วยทำงาน การรับสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ENTRANCE) ในระหว่างปี 2518-2520 โดยเฉพาะ ศ.ดร.กำจร มนุญปิจุ, รศ.ชาคริต จุลกะเสวี, รศ.ดร.โกศัล คูสำราญ และอีกหลายๆ ท่าน (ต้องขอกราบอภัย หากผิดพลาดในตำแหน่งชื่อและตัวสะกด) จากประสบการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ผมทราบว่า มีนักเรียนหลายๆ คนที่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพระเขาไม่เก่ง ไม่ใช่เพราะเขาไม่ขยันเรียน แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่รู้ว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไรให้ถูกต้อง ทั้งการอ่านหนังสือ การคัดเลือกคณะที่อยากจะเรียน ท้ายที่สุดก็สอบไม่ติด ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในปีนั้นๆ ทำให้เสียทั้งเวลาและเงินทอง นอกจากนี้ท่านทั้งหลายยังได้สอนผมให้โอกาสผมลงมือทำงานอีกหลายๆ อย่าง จนผมเชื่อมั่นว่า การที่ผม (มีจิตสำนึก) ที่อยากจะสร้างโอกาสให้กับคนอื่นๆ ทำอะไรให้ดีขึ้นในหลายๆ เรื่อง ส่วนหนึ่งคงเกิดจากที่มีโอกาส ในการไปช่วยงานของท่านทั้งหลายในอดีต จึงทำให้ผมตอบรับกับทางบริษัทธรรมนิติไปด้วยความเต็มใจ

หน้าที่การงานของผมในปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบด้านการรับสมัคร คัดเลือกเบื้องต้น เป็นคณะกรรมการในการสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกพนักงานและพัฒนาพนักงานที่เข้ามาทำงานในองค์กรธุรกิจอาหารประเภท FAST FOOD แม้เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งในธุรกิจประเภทนี้ คงไม่สามารถที่จะเล่าประสบการณ์ให้ฟังจนเป็นที่ใช้ได้ในทุกๆ ธุรกิจหรือทุกๆ สาขาวิชาชีพได้ แต่ผมเชื่อมั่นว่าประสบการณ์เหล่านี้ น่าที่จะนำไปประยุกต์และใช้กันได้ อย่างไรก็ตาม ผมขอเล่าจากประสบการณ์ของคนที่รับผิดชอบและลงมือทำในการทำงานนั้นในแต่ละขั้นตอนว่าจะต้องทำอย่างไรมากกว่า

ก่อนไปสมัครงานจะต้องเตรียมตัวอย่างไร
จากการที่ผมได้มีโอกาสเป็นคณะกรรมการในการสอบสัมภาษณ์ มักจะถามน้องๆ หลายคนที่มาสอบสัมภาษณ์ว่า น้องสมัครมาแล้วกี่แห่ง หลายคนพูดความเป็นจริงว่า ไปสมัครมาแล้วหลายแห่งครับ แต่ไม่เห็นเขาเรียกผมไปสัมภาษณ์เลย ของพี่เป็นแห่งแรกที่เรียกมาครับ เมื่อถามต่อไปว่า แล้วเราเขียนใบสมัครอย่างไรละ? เขาจึงไม่ได้เรียกเราไปสอบสัมภาษณ์ มักจะได้รับคำอธิบายว่า เมื่อผม (จะ) จบก็เริ่มตระเวนกรอกใบสมัครไว้ ตามบริษัทต่างๆ ที่คิดว่า เขาจะมีการรับพนักงานใหม่ เขียนลงในใบสมัครตามที่ได้เตรียมข้อมูลไปเท่านั้นเอง เอ้อ! ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่พวกเราได้ใช้ความพยายามแล้ว

การที่บริษัทมีความต้องการรับพนักงานใหม่นั้น ทุก ๆ ตำแหน่งมักจะต้องมีการกำหนดลักษณะงานว่า จะต้องทำอะไรบ้าง หรือที่เรียกกันว่า JD (JOB DESCRIPTION) กำหนดคุณสมบัติของคนต้องการและความสามารถของคนที่จะเข้าไปทำ หรือคนที่เขาต้องการจะรับ ซึ่งเราเรียกว่า SPEC (SPECIFICATION) ของคนนั้นเอง ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ หรือเป็นบริษัทที่มีระบบการบริหารงานพอสมควรเขามักจะเริ่มต้นที่ง่ายๆ แต่ไม่ทำให้เสียเวลาค่าใช้จ่ายมาก โดยการคัดเลือกคุณสมบัติของคนเป็นการเบื้องต้นจากใบสมัครนั้นเอง แล้วพวกเราลองนึกดูว่า การที่เราเขียนใบสมัครงาน โดยที่เราไม่รู้ว่า เขาต้องการพนักงานประเภทไหนตำแหน่งอะไรแล้วละก็ การที่พวกเราเพิ่งจะได้รับเรียกไปสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกได้ ก็นับว่ามีบุญแล้ว ยิ่งบริษัทที่มีใบสมัครเข้ามากๆ แล้ว บอกได้เลยว่า มักจะกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครนั้นเอง ถ้าไม่ตรงตาม SPEC ก็บอกได้เลยว่ารอไปก่อน (อีกนาน) นะ ดังนั้น ก่อนที่จะไปสมัครงานหรือการที่จะเริ่มต้นหางานทำนั้น จะต้องมีการเตรียมตัว เตรียมข้อมูลส่วนตัวที่คิดว่า เจ๋งที่สุด เพื่อที่จะใช้ในการเขียนใบสมัครและถ้าต้องการให้ได้ผลตรงเป้าหมายที่ต้องการเลย จะต้องมีการศึกษาข้อมูลเฉพาะสำหรับแต่ละบริษัทเลยก็ว่าได้ ผมเคยเรียกสัมภาษณ์ผู้สมัครบางคน เมื่อดูใบสมัครประกอบกับการได้เรียกมาสัมภาษณ์ด้วยแล้ว เกิดความรู้สึกที่ประทับใจมากเพราะผู้สมัครรายนี้มีการเตรียมตัวตั้งแต่การเขียนใบสมัครให้ตรงกับ SPEC ที่บริษัทต้องการและเป็นจริง เมื่อถามว่า น้องทำอย่างไร? จึงเขียนข้อความได้ตรงใจคณะกรรมการเหลือเกิน คำตอบที่ได้รับฟังสมกับเป็นคนรุ่นใหม่ของสังคมยุคคลื่นลูกที่สามว่า นอกจากที่ผมดูคุณสมบัติที่ใบประกาศแล้ว ผมยังได้โทรศัพท์มาสอบถามพี่ๆ ที่สำนักงานว่า มีตำแหน่งไหนบ้างที่บริษัทรับสมัครและควรจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างครับ? นอกจากนี้ ผมยังหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก INTERNET ว่าบริษัทที่ผมสมัครนี้ ประกอบธุรกิจในด้านไหนมีคู่แข่งเป็นใคร อยู่ในสถานะของการเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ถ้าจำเป็นผมอาจต้องศึกษาดูจากหน้างานจริงๆ ด้วยครับว่าเป็นอย่างไร และที่สำคัญมาก คือ ถ้าผมต้องการจะเข้าไปทำงานในบริษัทนั้นให้ได้ ผมจะต้องเขียนใบสมัครอย่างไร จึงจะจูงใจให้เขาคัดเลือกผมเบื้องต้น จากการเห็นข้อมูลในใบสมัคร ที่ผมเขียนไว้ เห็นไหมครับ คนที่มีกึ๋นกว่ามักจะได้เปรียบกว่า

การพิมพ์และการเขียนใบสมัคร
ปัจจุบัน เครื่องมือสื่อสารมีความทันสมัยมาก การหางานสามารถที่จะหาจาก NET ต่าง ๆ ก็ได้ เป็นการง่ายสำหรับการเตรียมข้อมูลของตนเองอย่างเป็นมาตรฐาน ทั้งรูปแบบและข้อความที่ใช้ก็เป็นวิธีการที่ดี เพื่อจะได้ย่นย่อเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการเขียนอย่างซ้ำซากได้ เพียงแต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบริษัท หากส่งใบสมัครที่เหมือนๆ กัน ในทุกบริษัทผลลัพธ์ที่ได้อาจเหมือนกรณีเล่าไปข้างต้นก็เป็นได้
ถ้าใบสมัครไม่ได้ใช้พิมพ์ จะต้องระมัดระวังในเรื่องรายละเอียดของข้อมูล ที่ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการเขียน และต้องอ่านได้เข้าใจง่าย โดยเฉพาะการไปสมัครงานประเภทที่ต้องใช้ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือความสะอาด เช่น งานด้านบัญชี หรืองานเลขานุการ เป็นต้น

ข้อความที่กรอกลงในใบสมัคร จะต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างพิถีพิถันเพราะเป็นการโชว์กึ๋นของเราเองว่ามีความเข้าใจในความหมายหรือสิ่งที่บริษัท ต้องการหรือไม่ ทั้งยังเป็นการแสดงถึงปฏิภาณ ไหวพริบของเราอีกด้วย เพราะขนาดของพื้นที่ที่กำหนดไว้มักจะมีความเหมาะสม ที่จะให้เราเขียนได้ใจความที่สมบูรณ์และสำคัญๆ แต่ต้องตระหนักในเวลาเดียวกันว่า ข้อความทั้งหมดจะต้องเป็นจริงสามารถถูกตรวจสอบได้ภายหลัง เช่น ในใบสมัครต้องการให้เราระบุวุฒิการศึกษา นั่นแสดงว่า บริษัทอยากได้คนที่มีวุฒิการศึกษาตามที่ต้องการ หากเรามีวุฒิการศึกษาที่ไม่เป๊ะเลยมีแค่ MINOR แต่มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานนั้น เวลาเขียนแนะนำตนเองว่า มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานที่สมัครอย่างไร ? เราจะต้องใช้ข้อมูลที่ได้เตรียมไว้ กลั่นกรองและเขียนคุณสมบัติ ความสามารถและประสบการณ์ที่มีอยู่ให้ตรงกับ SPEC ที่บริษัทต้องการ ส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้สมัครที่จะใช้เป็นเวทีในการแนะนำและจูงใจให้ได้รับการคัดเลือกเบื้องต้น

การวางตัว การแต่งกายและการไปสมัครงานที่บริษัท
การไปสมัครที่บริษัทต่าง ๆ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เราอาจถูกทดสอบได้ตลอดเวลา บางบริษัทอาจกำหนดเลยว่า จะต้องไปสมัครด้วยตนเอง เพระอาจต้องดูบุคลิกภาพของผู้สมัครโดยตรง บางบริษัทอาจเห็นแล้วว่าการสัมภาษณ์ในเวลาสั้นๆ มีโอกาสที่ผิดพลาดได้ง่าย (แต่ยังไม่ยอมแก้ไข หรือกลายเป็นประเพณีนิยมไปแล้ว) ดังนั้น ฝ่ายบุคคลมักจะถูกมอบหมายให้ดูบุคลิกลักษณะการแต่งกาย และพฤติกรรมที่แสดงออกตั้งแต่ในตอนที่มาเขียนในใบสมัครเลยก็ได้ หรือมอบหมายให้มีการสัมภาษณ์เบื้องต้นในตอนที่นำใบสมัครมายื่นให้เลยก็ได้ พวกเราบางคนอาจนึกได้เลยว่า มิน่าผมจึงไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์เลย ตั้งแต่วันที่ไปยื่นใบสมัครไว้ แต่น้องๆ หลายๆ คนอาจโต้แย้งว่า การแต่งกายตามสมัยนิยม การไว้ผมยาว พฤติกรรมในการแสดงออกนั้นๆ ฯลฯ ไม่เห็นเกี่ยวหรือเป็นสิ่งที่จะมาวัดความสามารถในการทำงานของพวกเราเลย อาจจะจริง แต่อย่าลืมว่า บริษัทหรือคณะกรรมการที่สอบสัมภาษณ์มีเวลาในการทดสอบ สอบถาม สังเกตและพิจารณาผู้สมัครหรือผู้เข้าสอบสัมภาษณ์เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่มีโอกาสหรือเวลาที่จะพิจารณาลงลึกในทุกๆ เรื่องได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาสิ่งที่เห็นหรือได้ทราบข้อมูลอื่นๆ เป็นองค์ประกอบและเราลองนึกดูว่าในความเป็นจริงของโลกธุรกิจจะมีสักกี่คนที่เป็นคนใจกว้างเข้าใจในสิ่งที่พวกเราคนที่กำลังวิ่งหางานนึกคิดอยู่ บุคคลเหล่านั้นแทบจะไม่ได้มีโอกาสมาเป็นคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกพวกเราเลย ทั้งยังมีวัฒนธรรมที่มองว่าการแต่งตัวในแต่ลักษณะที่เหมาะสมเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติในสถานที่อีกด้วย
พึงระมัดระวังตลอดเวลาว่า ระหว่างที่คุณอยู่ในขั้นตอนการสมัครงานทุกกิริยาท่าทาง เป็นสิ่งที่จะสะท้อนภาพลักษณ์ของตัวคุณ บางกรณีของการไม่ให้เกียรติกับสถานที่สมัครหรือพนักงานที่คุณติดต่อ ก็เป็นโทษต่อตัวคุณเองได้เช่นกัน เช่น การสอบถามพนักงานของบริษัทถึงตำแหน่งงานที่จะสมัคร การขอข้อมูลที่ต้องการโดยการใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ นึกเอาเองว่าบุคคลที่พวกเราสอบถามเป็นเพียงแค่พนักงานต้อนรับหรือพนักงานที่มีตำแหน่งต่ำกว่าที่พวกเราต้องการสมัคร แต่พนักงานเหล่านี้มักจะมีเพื่อนฝูงหรือหัวหน้าในทุกตำแหน่งที่อยู่ในบริษัท แค่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นออกไปเกี่ยวกับตัวพวกเราให้เห็นในเชิงลบ ก็มีผลต่อพวกเราเสียแล้ว

มีกรณีที่เกิดขึ้นและอยากเล่าให้ฟังเป็นอุทาหรณ์ การไปสมัครงานควรไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะสมัคร เพื่อให้ได้ในโอกาสที่จะผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น เพื่อเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ และการคัดเลือกเราเข้าทำงานมีผู้สมัครหลายคนเข้ามาสมัครงานกับเรามาพร้อมๆ กัน 2 คน แต่สมัครเพียงคนเดียวระหว่างที่เขียนใบสมัครบางคนอาจมีญาติผู้ใหญ่มาเป็นผู้กำกับ ไม่เคยให้คลาดสายตา แม้กระทั่งวินาทีเดียว บางคนไม่ยอมห่างกันแม้แต่ก้าวเดียว ซ้ำบางช่วงเวลายังแสดงกิริยาหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้พนักงานบริษัทได้เห็น ถ้าท่านเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการคัดเลือกและรับพนักงานเข้าใหม่ ท่านจะตัดสินใจอย่างไร ?

พวกเราทราบไหมว่า บางครั้งก่อนที่บริษัทต่างๆ จะนัดเราไปสัมภาษณ์กับคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์นั้น ฝ่ายบุคคลได้มีขั้นตอนในการ SCREEN เป็นการเบื้องต้นมาแล้ว ตามเทคนิคและประสบการณ์ของแต่ละบริษัทที่กำหนดไว้ เช่น

•คุณสมบัติเบื้องต้นตรงตาม SPEC ที่กำหนดไว้หรือไม่
•บุคลิกภาพที่เห็นและการแสดงออกในวันที่สมัครหรือวันส่งใบสมัคร
•การสัมภาษณ์เบื้องต้น อย่างสั้นๆ จากบุคคลที่มารับใบสมัครหรือบุคคล
•การสัมภาษณ์เบื้องต้น จากหน่วยงานที่จะรับพนักงาน ฯลฯ

การเตรียมก่อนการเข้าสอบสัมภาษณ์
ได้เกริ่นมาในตอนต้นแล้วว่า แม้การที่จะเขียนใบสมัครยังต้องเตรียมตัวต้องศึกษาลักษณะของงานที่จะไปสมัคร ศึกษาบริษัทที่เราไปสมัคร ดังนั้น การเตรียมตัวก่อนที่จะไปสัมภาษณ์ ยิ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ถ้าหากมีการซักซ้อมมาก่อนยิ่งดี คนไทยเรามักจะเขินที่ซ้อมอย่างจริงจัง มักคิดเอาเองว่ามีอยู่ในสมองหมดแล้ว แต่เชื่อไหมว่า ในความเป็นจริงสมองคนเราคิดเร็วกว่าปากเป็นร้อยๆ เท่า และจิตใจพวกเรามักจะเข้าข้างตัวเองเสมอว่า ไม่เป็นไร รับรองว่าตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ราบรื่น ยอดไปเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเรามักไม่สามารถที่จะเรียบเรียงคำตอบได้อย่างราบรื่นเหมือนอย่างที่ใจคิดหรอก มักจะตอบได้อย่างกระท่อนกระแท่น วกไปวนมาหรือได้ใจความที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

บางบริษัทจะมีรูปแบบของการสัมภาษณ์เตรียมไว้เป็นชุดเลย โดยเฉพาะบริษัทที่มาจากแถบตะวันตกทั้งหลาย หรือเป็นบริษัทที่มีระบบแล้ว ดังนั้น การที่รู้จักบริษัทก่อนที่จะไปสัมภาษณ์ ทำให้เราสามารถเตรียมตัวได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และสามารถที่จะซักซ้อมการตอบคำถามได้ล่วงหน้าเป็นบางส่วน การมีการเตรียมตัวหรือได้ซักซ้อมไปก่อน จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตนเองได้อีกด้วย ส่วนในด้านของปฏิภาณ ไหวพริบเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องไปแก้ไขในสถานการณ์จริง

 

 

การสอบสัมภาษณ์

ก่อนการเดินทางไปสัมภาษณ์ ควรรู้จักสถานที่เป็นอย่างดีก่อน ไม่ไปผิดสถานที่เพราะเราไม่มีทางที่จะทราบล่วงหน้าเลยว่า วันเวลาที่เราจะเดินทางไปจริง ๆ นั้น เป็นอย่างไร หรือจะเกิดอะไรขึ้น การเดินทางไปถึงสถานที่สัมภาษณ์ช้า ไม่สามารถที่จะมีข้อแก้ตัวใดๆ ได้ และควรไปถึงสถานที่กำหนดเวลานัดอย่างน้อย 15 นาที จะได้มีการเตรียมตัว ปรับตัวเข้ากับสถานที่ ทำให้ไม่ต้องกระหืดกระหอบเมื่อเข้าไปสัมภาษณ์ ซึ่งทำให้เสียบุคลิก บางบริษัทอาจจะตรวจสอบเวลาที่ไปถึง ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบเบื้องต้นของผู้สมัคร แม้ว่าบางครั้งเวลาในการสอบสัมภาษณ์จะไม่ตรงตามเวลาที่นัดหมายก็ตามระหว่างที่นั่งพัก เพื่อรอเรียกสัมภาษณ์ ให้ระมัดระวังกิริยามารยาทที่แสดงออก ไม่แสดงออกซึ่งความกระวนกระวาย รุกรี้รุกรน การใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ หรือแสดงอาการที่หงุดหงิด เพราะอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของตัวคุณเองแล้ว ร้ายที่สุดเป็นการทำร้ายตัวเอง เพราะทำให้เราไม่มีสมาธิที่จะสอบสัมภาษณ์อีกด้วย


ระหว่างในการสอบสัมภาษณ์นั้น ขอให้ตระหนักเสมอว่า คณะกรรมการที่ถูกคัดเลือกมาสอบสัมภาษณ์พวกเรานั้น แต่ละคนจะต้องมีประสบการณ์ในด้านการคัดเลือกคน หรือการบริหารงาน หรือมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่มากพอสมควร ดังนั้น การตอบคำถามในแต่ละครั้ง จะต้องตอบจากความรู้สึกความคิดของตนเองอยู่ตลอดเวลา อาจจะเป็นความจำที่ได้เรียบเรียงจาการเตรียมตัวไว้ก็ได้ แต่อย่าแสดงเป็นลักษณะของการท่องจำ ไม่เช่นนั้น หากถูกขัดจังหวะจะลืมที่เตรียมมาทั้งหมดทันที ขอให้พูดจาจากความเข้าใจของตัวเราเอง และที่สำคัญคือต้องสื่อให้คณะกรรมการฯ ได้เข้าใจด้วย หากบางครั้งที่ต้องใช้ศัพท์เทคนิค ขอให้แน่ใจว่า คณะกรรมการฯ เข้าใจเหมือนเรา ตรงกับที่เราต้องการจะสื่อให้ทราบ เช่น ใช้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ผมหมายถึง … อย่างนี้ครับ … เป็นต้น

หากคณะกรรมการฯ ให้โอกาสเราในการที่จะเล่าอะไรที่เกี่ยวกับตัวเรา ขอให้ทราบว่า มันเป็นนาทีทองของเราแล้ว สิ่งที่เราได้เตรียมมาไว้เป็นอย่างดีและอย่างเป็นระบบ จะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นชุดๆ จะทำให้คณะกรรมการฯ รู้เรื่องที่เราอยากให้รู้ และถ้าเป็นคณะกรรมการฯ ที่ไม่ได้ทำการบ้านมาก็เข้าล็อคทันที แต่หากเป็นคณะกรรมการฯ ที่มีการเตรียมการหรือมีประสบการณ์มักจะสอบถามเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราเล่า เพื่อปูพื้นฐานไปสู่เรื่องอื่น ๆ แต่อย่างน้อยเราก็ได้คะแนนจากการตอบในยกแรกๆ แล้ว บางคนไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากนาทีทองที่คณะกรรมการฯ ให้มาเป็นลักษณะถามคำ ตอบคำ เชื่อได้เลยว่าสัมภาษณ์ไม่เกิน 15 นาทีและตกสัมภาษณ์ไปเรียบร้อยตั้งแต่อยู่ในห้อง

ระหว่างในการสอบสัมภาษณ์ ไม่มีใครที่จะสามารถเดาใจคณะกรรมการฯ อย่าเสียเวลาในการเดาใจคณะกรรมการฯ เพราะแต่ละท่านอาจจะมีประสบการณ์มาในคนละด้าน แต่ต้องมาร่วมกันในการสัมภาษณ์ ขณะที่เราตอบคำถามของบางท่านไปแล้ว อาจจะมีบางท่านไม่ได้ฟังหรือไม่ได้ให้ความสนใจในขณะนั้น หรือต้องการที่จะทดสอบเราเพิ่มเติม อาจใช้คำถามเดิมที่ถามไปแล้ว ซึ่งเมื่อมีคำถามที่ซ้ำอีกพึงระวังอย่าแสดงกิริยาที่ไม่พอใจ แสดงอาการหงุดหงิด หรือแสดงอาการที่รู้เท่าทันคณะกรรมการฯ เพราะไม่เป็นผลดีด้วยประการทั้งปวง ขอให้ตอบคำถามนั้น ๆ อีกครั้ง แต่อาจต้องกระชับขึ้นกว่าครั้งแรก เพื่อคนที่ได้รับฟังไปแล้ว ไม่ต้องฟังคำตอบที่ยาวเกินไป ทั้งยังเป็นการแสดงถึงความสามารถในการสรุปของเราได้อีกด้วย ไม่แน่ว่าสิ่งที่เราได้ตอบไปครั้งแรกนั้นอาจจะไม่กระจ่าง หรือยังมีประเด็นที่น่าสงสัย หรือไม่ชัดเจน จึงเป็นการดีที่เราได้มีโอกาสอธิบายซ้ำอีก

การตอบคำถามจะต้องทำความเข้าใจ นบน้อม อธิบายเท่าที่จำเป็นซึ่งเป็นการยากที่จะบอกว่าขนาดไหน แต่ขอให้ลักษณะเป็นเหมือนเด็กตอบคำถามผู้ใหญ่จะเป็นการดีที่สุด เป็นการ PLAY SAFE สำหรับตัวเอง บางครั้งคณะกรรมการฯ อาจแสดงกิริยาที่ยั่วยุ ตั้งคำถามที่ดูถูกเรา เพราะต้องการสังเกตปฏิกิริยาการโต้ตอบจากเรา จงอย่าแสดงกิริยาท่าทางที่จะตอบโต้หรือท่าทางที่ดูถูกคณะกรรมการฯ หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นอันขาด ต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่าในวันนี้พวกเรามาเพื่ออะไร ? พวกเราถูกทดสอบอะไรอยู่ นอกจากนี้ วัฒนธรรมไทยยังยอมรับในความอาวุโสของคน แม้ว่าจะมีคณะกรรมการหลายๆ คนบอกว่ามีความใจกว้างพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของคนที่เด็กกว่า แต่เชื่อเถอะว่ายังมีคนเป็นจำนวนมากที่ปากไม่ตรงกับใจ ปากบอกว่ายอมรับได้ แต่ใจไม่เคยยอมรับก็มี ดังนั้น คำตอบที่เราคิดวาสะใจเรามาที่อยากจะตอบหรือได้ตอบ ไม่น่าจะมีผลที่ดีต่อตัวเรา จะต้องเสี่ยงไปทำไม จริงไหม ? ยกเว้นในกรณีที่คณะกรรมการฯ ต้องการฟังความคิดเห็นที่ AGGRESSIVE มาก โดยเฉพาะในภาวะธุรกิจที่การแข่งขันสูง ต่างชาติเข้าแยะกลยุทธ์เดิม ๆ ชักใช้ไม่ได้ผล เมื่อทราบเช่นนี้ กรณีเช่นนี้อาจจะยกเว้นได้ และข้อมูลที่พวกเราได้เตรียมมาตั้งแต่ต้น จะมาเป็นประโยชน์สำหรับการที่พวกเราจะวิเคราะห์ เพื่อตอบได้ตรงใจคณะกรรมการฯ

คุณสมบัติพิเศษของบุคคลบางประเภทที่บริษัทต้องการ มักจะเป็นหัวข้อที่ผู้บริหารกำหนดขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษจากปกติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้บริหารมีความในใจ หรือผู้บริหารได้กำหนดแผนอนาคตไว้ในใจแล้วว่า จะขยายธุรกิจไปในทิศทางใด แม้ว่าในวันนี้ยังไม่ถึงเวลา แต่หากมีการคัดเลือกคนไว้ล่วงหน้าก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น ข้อมูลที่พวกเราได้เตรียมมาตั้งแต่ต้น อาจจะใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการที่พวกเราจะวิเคราะห์ เพื่อตอบได้ตรงใจ คณะกรรมการฯ ว่า เรานั้นเองที่เขามองหาอยู่

บางครั้งพวกเราจะมีโอกาสสอบถามคณะกรรมการฯ บ้าง พึงใช้วิจารณญาณในการตั้งคำถามให้ดี อาจเป็นได้ว่า คำตอบที่พวกเราทำได้อย่างดีตลอดเวลาในการสัมภาษณ์ อาจสูญเปล่า เพราะคำถามที่ไร้สาระหรือไม่เป็นประโยชน์นั้น คำถามที่กระทบความรู้สึกของคณะกรรมการฯ หรือของบริษัทควรหลีกเลี่ยง หากบังเอิญเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่คาดคิดมาก่อน จงกล่าวคำขอโทษคณะกรรมการฯ เสีย จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ขอให้ใช้คำถามที่ POSITIVE สร้างสรรค์ ง่าย ๆ อย่าสลับซับซ้อนเกินไป จนกลายเป็นการเปิดประเด็นใหม่ ต้องมีการสัมภาษณ์เพิ่มเติมใหม่

การติดตามผลการสอบสัมภาษณ์
ปกติการประกาศผลการสอบสัมภาษณ์ของธุรกิจ มักจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ถ้าไม่มีการติดต่อแจ้งผลกลับไป มักแสดงให้ทราบโดยอัตโนมัติว่า เราไม่ผ่านการสัมภาษณ์ แต่ไม่เสมอไป บางครั้ง อาจมีปัญหาบางประการที่สอดแทรกเข้ามาในระหว่างนั้น ทำให้ไม่สามารถที่จะแจ้งผลได้ตามปกติ เช่น มีคู่แข่งที่ใกล้เคียงกันมากหรือตำแหน่งที่จะรับต้องรอเวลาไปอีกนิด ดังนั้น การที่จะสอบถามผลการสอบสัมภาษณ์จึงเป็นเรื่องปกติที่เราสามารถทำได้ โดยไม่เสียมารยาท แต่พึงระวังในเรื่องการใช้คำพูดที่อาจเกิดผลกระทบโดยไม่ตั้งใจ เพราะคนที่ตอบมักไม่ใช่คณะกรรมการฯ จึงอาจไม่รู้เรื่องทั้งหมด แต่บุคคลที่ตอบพวกเราสามารถที่จะนำคำพูดของเราไปบอกต่อได้ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่พลิกผันจากดีกลับกลายเป็นเสียก็ได้ แม้ว่าเราจะไม่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ก็ไม่ใช่หมายความว่า เราไม่มีโอกาสที่จะติดต่อกับบริษัทนี้อีกในอนาคตเราอาจมีกิจกรรมร่วมกันได้ เราอาจจะถูกเรียกเพราะผลจากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ก็เป็นได้ ดังนั้น เมื่อสอบถามแล้วไม่ได้ตามที่เราต้องการอย่าลืมกล่าวขอบคุณผู้ที่ให้ความกระจ่างแก่เราด้วย

การสอบถามและเจรจาค่าจ้าง
ระหว่างที่คณะกรรมการสัมภาษณ์ อาจจะมีการสอบถามถึงความต้องการหรือค่าจ้างที่อยากจะได้ด้วย โดยปกติหลังจากการที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ไปแล้ว จึงจะมีการสอบถามในเรื่องค่าจ้างหรือความต้องการค่าจ้าง ดังนั้น หากได้รับการสอบถามหรือการบอกอัตราค่าจ้างแล้ว จะต้องพิจารณาให้ดีว่าเราอยู่ในสถานะอะไรต่อรองได้มากน้อยขนาดไหน ขณะนี้อัตราการว่าจ้างในระดับของเราเป็นอย่างไร การที่จะบอกต่ำไป ก็เป็นการที่ทำให้เราเสียโอกาสที่ควรจะได้ การบอกสูงไปก็อาจชวดโอกาสในการที่จะได้งานเช่นกัน บางครั้งต้องดูสถานการณ์ว่า คำถามนั้นต้องการความจริงจังมากน้อยแค่ไหน ถ้าย้อนกลับไปดูข้อความในตอนต้นๆ จะเห็นว่าผมค่อนข้างจะเน้นการศึกษา หน้าที่ ลักษณะงานและบริษัทไว้แล้ว ดังนั้นในช่วงที่เรารับทราบและพอเข้าใจในสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้ว จะทำให้เราตอบคำถามได้ดีขึ้น อย่าเพียงแต่ฟังรุ่นพี่ๆ ที่เล่าให้ฟัง แล้วสรุปว่าจริง เชื่อเถอะคนที่โอ้อวดว่าตนเองได้เงินเดือนสูงมีเพียงไม่กี่คนที่พูดความจริง ส่วนใหญ่จะพูดเพื่อรักษาหน้าของตนเองไว้เท่านั้น หรือการพูดอยู่ในสถานะที่แตกต่างกัน ทั้งปีในการทำงาน หรือประสบการณ์ที่ทำ แต่ขอให้จดจำไว้ว่าทุกบริษัทต้องการจ้างคนที่ความสามรถที่จะเข้าไปทำงานให้เขาจะตกลงว่าจ้าง ถ้าหากเป็นพนักงานใหม่ อาจไม่ยุ่งยาก เพราะมีเงินเดือนเริ่มต้นของแต่ละตำแหน่งอยู่แล้ว ยกเว้นวิชาชีพเฉพาะด้านที่อาจผิดปกติ แต่ถ้ามีประสบการณ์มักจะเป็นไปตามอัตราค่าจ้างในตลาดหรือต่ำกว่า เพราะบริษัทยังไม่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของพวกเรานั้นเอง

ท้ายสุดอาจจะบอกพวกเราว่า ปกติคณะกรรมการพยายามค้นหาจุดเด่นหรือจุดแข็งของผู้สมัคร เพื่อดูว่าเป็นประโยชน์ต่อตำแหน่งหน้าที่ที่จะรับหรือไม่ หรือจุดอ่อนที่มีอยู่ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องใช้วิธีในการสังเกต หรือใช้วิธีการตั้งคำถาม เพื่อค้นหาจากคำตอบของผู้สมัคร ดังนั้นกระบวนการที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการและบริษัทพยายามอย่างเต็มที่ที่จะค้นหาจากเรา แต่ด้วยเวลาที่น้อยนิดเช่นนั้น อาจได้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อตัวเรา หากเราเสามารถที่จะทำให้คณะกรรมการฯหรือบริษัทได้รับทราบข้อมูลของเราเพิ่ม จงรีบทำโดยทันที เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองมากกว่าที่จะเป็นส่วนเสียหายรู้เขา รู้เรา (แต่ต้องไม่เว่อร์) สัมภาษณ์ร้อยครั้ง ผ่านร้อยครั้ง

 

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ