ว่าด้วยเรื่อง"ควรทำ"และ"ไม่ควรทำ" ใน 10 ประเทศอาเซียน(ตอนที่ 2)

หลังจากที่เราได้เรียนรู้กันไปในฉบับที่แล้วถึงข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามสำคัญๆ ที่ต้องระมัดระวังเมื่อไปเยือนประเทศเมียนมาร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนาม  คอลัมน์เปิดโลก AEC ของเราในครั้งนี้ก็จะขอหยิบยกเรื่องราวของสิ่งที่ “ควรทำ” และ “ไม่ควรทำ” ในประเทศอาเซียนอื่นๆ มานำเสนอกันต่อครับ...  

ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)

ควรทำ

  • พึงแสดงความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นสถาบันที่คนไทยเคารพรักยิ่งและยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ
  • ชาวไทยทักทายกันและกันด้วยการไหว้ และมีรอยยิ้มให้กันเสมอ
  • ควรยืนถวายความเคารพเมื่อได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี 
  • การเข้าไปในศาสนสถานควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย มิดชิด อนุญาตให้สวมรองเท้าเดินรอบอุโบสถ/โบสถ์ได้ แต่ต้องถอดรองเท้าเมื่อจะเข้าไปในอุโบสถ/โบสถ์ และในบริเวณที่มีป้ายบอกแสดงไว้
  • คนไทยจะค้อมตัวลงเล็กน้อยเมื่อเดินผ่านผู้ที่นั่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่นั่งอยู่นั้นมีอาวุโสมากกว่า

 

ไม่ควรทำ

  • การละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ถือเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ 
  • ภิกษุและสามเณรเป็นบุคคลที่คนไทยเคารพนับถือ เมื่อพูดคุยติดต่อกับภิกษุหรือสามเณรพึงกระทำด้วยความสำรวม และสตรีห้ามแตะเนื้อต้องตัวพระสงฆ์โดยเด็ดขาด
  • ชาวไทยถือว่า “ศีรษะ” เป็นของสูง จึงไม่ควรแตะต้องศีรษะของผู้ใด หากบังเอิญพลาดไปโดนศีรษะผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจก็ควรรีบกล่าวคำขอโทษ นอกจากนี้ชาวไทยยังถือว่า “เท้า” เป็นของต่ำ การหยอกล้อผู้อื่นด้วยเท้า หรือการยกเท้าขึ้นมาวางบนโต๊ะ เก้าอี้  ถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ
  • การแสดงความรู้สึกทางเพศอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับในวัฒนธรรมไทย
  • ธงชาติไทยถือเป็นของสูงสำหรับคนไทย ไม่ควรนำมากระทำการใดๆ ที่เป็นการเหยียดหยาม

ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

ควรทำ

  • เมื่อไปเที่ยวชมวัดหรือศาสนสถาน โบราณสถานสำคัญต่างๆ ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
  • ถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านผู้อื่นทุกครั้ง
  • เมื่อยื่นส่งสิ่งของให้ชาวกัมพูชา ควรจะยื่นด้วยมือทั้ง 2 ข้าง หรือหากจะยื่นด้วยมือข้างเดียว ควรใช้มือขวา
  • การแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่มีอาวุโสมากกว่าเป็นกิริยาที่ชาวกัมพูชาชื่นชม
  • ชายควรทักทายกันด้วยการจับมือ ส่วนหญิงควรทักทายด้วยการไหว้
  • เมื่อไปเยือนกัมพูชา ควรเรียนรู้วิธีการรับประทานอาหารด้วยมือ และควรลองรับประทานอาหารประจำชาติของชาวกัมพูชา

ไม่ควรทำ

  • ห้ามชี้นิ้วใส่ชาวกัมพูชาโดยเด็ดขาด เพราะชาวกัมพูชาเชื่อว่าจะถูกสาปแช่งหรือถูกปล่อยของทำร้าย
  • เมื่อได้รับของขวัญจากชาวกัมพูชา ไม่ควรรีบเปิดดูในทันที
  • ไม่ควรเต้นรำกับคู่เต้นต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นรำในโอกาสงานประเพณีหรืองานสังคมรื่นเริงก็ตาม
  • การสบตามากเกินไปเป็นท่าทางที่ชาวกัมพูชามองว่าไม่ให้เกียรติ
  • ห้ามถ่ายภาพสัญลักษณ์ทางทหารโดยเด็ดขาด 

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Laos People’s Democratic Republic)

ควรทำ

  • การต่อรองราคาเมื่อซื้อสินค้าถือเป็นเรื่องปกติในประเทศลาว
  • คนลาวถือว่าศีรษะเป็นของสูงและเท้าเป็นของต่ำเช่นเดียวกับคนไทย จึงห้ามจับหรือเล่นศีรษะของผู้อื่น และไม่ยกเท้าขึ้นวางบนโต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งควรเก็บปลายเท้าให้เรียบร้อยขณะนั่งสนทนา 
  • เมื่อไปติดต่อธุระในสถานที่ราชการต้องแต่งกายให้เรียบร้อย
  • เมื่อไปเยือนประเทศลาว หากมีผู้ให้บริการใดๆ แก่เรา เช่น พนักงานขับรถ มัคคุเทศก์ หรือพนักงานโรงแรม เราควรให้ทิปแก่เขาเสมอ
  • ชาวลาวมักต้อนรับแขกที่มาบ้านด้วยการเสิร์ฟน้ำ ซึ่งเราควรตอบรับน้ำใจของเจ้าบ้านอย่างสุภาพและดื่มน้ำนั้น แม้ว่าจะไม่ได้รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
  • การขับรถในประเทศลาวต้องขับชิดขวา

 ไม่ควรทำ

  • ห้ามซื้อวัตถุโบราณ เพราะเป็นเรื่องต้องห้ามและผิดกฎหมาย
  • ไม่ควรกอดหรือผลักผู้อื่นจากด้านหลัง เพราะถือเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจสำหรับชาวลาว
  • การถอดเสื้อในที่สาธารณะ และการพูดคุยกันเสียงดังเอะอะโวยวายเกินจำเป็น ถือเป็นการกระทำที่เสียมารยาทสำหรับชาวลาว
  • ชาวลาวให้ความเคารพนับถือภิกษุและสามเณรอย่างมากเช่นเดียวกับชาวไทย จึงควรสำรวมกิริยาเสมอเมื่อพูดคุยกับพระภิกษุและสามเณร และสตรีห้ามแตะเนื้อต้องตัวพระสงฆ์โดยเด็ดขาด
  • ไม่สวมเสื้อกล้าม เสื้อแขนกุด และกางเกงสั้นหรือกระโปรงสั้น เมื่อเข้าไปในวัดวาอารามต่างๆ

 

ฉบับหน้า กลับมาติดตามเรื่องราว “ควรทำ” และ “ไม่ควรทำ” ของอีก 3 ประเทศที่เหลือกันต่อครับ!

 แหล่งข้อมูล : กระทรวงการต่างประเทศ www.mfa.go.th 
ศูนย์ข้อมูลความรู้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน www.thai-aec.com
 


ข้อมูลจาก : วารสาร HR Society Magazine ฉบับเดือนเมษายน 2559
คอลัมน์ :HEALTH:กองบรรณาธิการ