โอกาสก้าวหน้าในชีวิตและความผิดเกี่ยวกับภาพลักษณ์
โดย กองบรรณาธิการ



“ความผิดเกี่ยวกับภาพลักษณ์ ออกจะเป็นคำที่แปลกและอาจเป็นเรื่องตลกขบขันสำหรับใครหลายคน เพราะคนเรามักเข้าใจกันว่าถ้าชื่อว่า “ความผิด” แล้วจะต้องมีบรรทัดฐานทางกฎหมายมาเป็นตัวตัดสินและมีบทลงโทษที่ระบุชัด คนเราจึงมักระวังการกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษรุนแรงแต่ไม่ได้ระวังการกระทำผิดเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นกริยามารยาทแบบแผนประเพณีและศีลธรรม

ความผิดเกี่ยวกับภาพลักษณ์บางข้ออาจไม่ถึงกับผิดศีลธรรม แต่มันเป็นความประพฤติไม่เหมาะสมเกี่ยวกับกายจริยา วจีจริยา และมโนจริยา คือ ทำอะไรไม่น่าดู พูดอะไรไม่เข้าท่า คิดอะไรไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งจะกลายเป็น “แนวโน้ม” ไปสู่การกระทำผิดศีลธรรม และการผิดศีลธรรมในหลายข้อก็เป็น “ความผิดตามกฎหมาย”

“เราจะรอให้ความบกพร่องด้านภาพลักษณ์สุกงอมจนถึงขั้นเป็นความบกพร่องทางศีลธรรม หรือผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อชีวิตและหน้าที่การงานเสียก่อนแล้วจึงจะรู้สึกว่าถึงเวลาที่ควรแก้ไข กระนั้นหรือ ?”

คนทำงานจะต้องแก้ไขข้อบกพร่อง ก่อนที่ความบกพร่องนั้นจะพัฒนาเป็น “ปัญหาในการทำงาน” เนื่องจากความบกพร่องเกี่ยวกับภาพลักษณ์หลายเรื่องถูกลืม ถูกมองข้าม ไม่ได้รับการใส่ใจแก้ไข ปล่อยไว้จนกลายเป็น “ความบกพร่องที่คุ้นเคย” และกลายเป็นเรื่อง “ปกติของฉัน” ไปในที่สุด

“ความปกติ” ที่ว่านี้จะเป็นปัญหาเมื่อบุคคลเข้าสู่สังคมและโลกของการทำงานเพราะ “ความปกติของฉัน” หลายเรื่องที่ “ไม่ปกติ” สำหรับคนรอบข้าง คนเหล่านั้นได้แก่ เจ้านาย ลูกน้อง ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ผู้ใหญ่ในวงสังคม คนรัก เพื่อนบ้าน ฯลฯ ทุกคนที่กล่าวถึง ไม่มีใครชี้ความบกพร่องของคุณหรอกครับ เขาอาจจะเลิกจ้างคุณด้วยเหตุผลที่ไม่ระบุชัดเจน เขาอาจจะเลิกคบคุณไปเฉยๆ หรือนำข้อบกพร่องของคุณไปกล่าวในทำนองเสียหายต่อบุคคลที่สามซึ่งท่านไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

ทางหนึ่งที่จะยุติความเสียหายซึ่งมีสาเหตุมาจากภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ก็คือการสำรวจตัวเอง ค้นหาจุดบกพร่องด้านภาพลักษณ์ที่จะเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตและการทำงานให้พบเสียก่อนที่จะไปสมัครงาน หากคุณไม่ทราบว่าจุดบกพร่องของคุณที่อาจเป็นอันตรายต่ออนาคตทางหน้าที่การงานมีอะไรบ้างก็ลองค้นหาจากแบบสำรวจตัวเองที่มีความละเอียดถูกต้อง ซึ่งเขียนโดยนักจิตวิทยาและนักพัฒนาบุคลิกภาพ

ปรับปรุงภาพลักษณ์เพื่อการสมัครงาน
ตำรานรลักษณ์ศาสตร์ซึ่งใช้ทำนายทายทักอนาคตของบุคคลตามกริยาที่ชอบแสดงออกได้อย่างแม่นยำ ได้กล่าวแต่โบราณว่า “กริยา เป็นสิ่งชี้ชะตาชีวิต” เรื่องนี้ดูจะสอดคล้องกับพุทธพจน์ที่กล่าวว่า “กรรมหรือการกระทำจะส่งผลถึงชะตา ความเป็นไปของชีวิต”

เพราะกริยาที่แสดงออกทั้งทางด้านกาย วาจา ใจ จะกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวบุคคลผู้นั้น และในความเป็นจริงก็พบว่า ภาพลักษณ์ของบุคคลจะบ่งบอกถึงระดับสติปัญญา ชาติตระกูล หน้าที่การงาน ตำแหน่งลำดับชั้น ระดับรสนิยม การศึกษา คุณภาพของคนตลอดจนประสิทธิภาพการทำงานได้เลยทีเดียว จึงนำมาสู่วาทการที่ว่า “ปัญญา รู้ได้จากการสนทนา” และ “กริยาส่อชาติตระกูล”

ภาพลักษณ์ที่แตกต่างนี้เองทำให้เกิดการ “จำแนกคน” เพื่อคัดเลือกเข้าทำงาน แล้วปรากฏว่าคนที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเดียวกัน จากสถาบันเดียวกัน ระดับคะแนนเท่ากัน หน้าตาขี้เหร่พอกัน สมัครงานที่เดียวกัน คนหนึ่งผ่าน อีกคนสอบตก...คุณคิดว่า ภาพลักษณ์ สำคัญหรือไม่?

ในโลกของการทำงาน ภาพลักษณ์เป็น “ต้นทุน” สู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานของบุคคลและมีผลต่อความสำเร็จ การบรรลุเป้าหมาย ผลประโยชน์และกำไรขององค์กร ดังนั้น ผู้มีภาพลักษณ์ที่ดี จึงเป็นที่เพรียกหาของทุกองค์กร ภาพลักษณ์ที่ดีของบุคคลนอกจากจะส่งผลต่อบุคลิกภาพส่วนตัวที่สง่างามแล้วยังเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรอีกด้วย คุณสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีได้โดยควบคุมการพูด การคิด และการแสดงออก คือควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ชอบนั่นเอง

ภาพลักษณ์ที่เสีย เปรียบได้กับ “เนื้อร้ายแห่งบุคลิกภาพ” คนที่จะเข้าสู่โลกของการทำงานจะต้องแก้ไขภาพลักษณ์ที่เสียด้วยการตรวจสอบจุดอ่อนเกี่ยวกับการพูด การคิด การแสดงออก เพื่อไปสู่โอกาสที่ดีในชีวิตทุกๆด้าน



จ็อบดีเอสที สมัครงาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลา งานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงาน รับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำ คนหางานทั่วประเทศ จ๊อบดีเอสที