การรับมือกับการสัมภาษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ
โดย  คุณดุลยทัศน์ พืชมงคล

ประเด็นที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คือเรื่องรูปแบบของการสัมภาษณ์งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนที่ถูกสัมภาษณ์งานส่วนใหญ่มองข้าม เพราะมักจะเข้าใจไปว่าสัมภาษณ์ที่ไหน ๆ ก็คงจะมีรูปแบบวิธีการสัมภาษณ์ที่ไม่แตกต่างกัน แต่กระนั้นพอถึงเวลาลงสนามจริงกลับเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันมาก่อนก็เลยออกอาการธาตุไฟแตกซ่าน ตื่นเต้นลนลานจนรวบรวมสมาธิสติสตังกลับคืนมาไม่ได้ เรื่องที่เคยว่าเตรียมเนื้อเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีก็กลายเป็นหลงลืมไปเสียหมด

เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเรื่องดังกล่าว วันนี้เราจะลองมาดูกันว่า รูปแบบของการสัมภาษณ์งานนั้น หลักๆ แล้วมีรูปแบบอะไรกันบ้าง และแต่ละแนวทางมีวิธีการที่ควรจะเตรียมรับมือล่วงหน้ากันอย่างไร

One by One Interview
เป็นการสัมภาษณ์ที่น่าจะเป็นที่นิยมมากที่สุด กล่าวคือเป็นการสัมภาษณ์กันแบบตัวต่อตัวระหว่างผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์  บางครั้งการสัมภาษณ์ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้น 2 Step คือเมื่อผ่านจากหัวหน้าฝ่ายงานแล้วก็จะต้องผ่านผู้บริหารอีกด่านหนึ่ง หรือไม่ก็ผ่านจากฝ่ายบุคคลแล้วก็ไปต่อที่ผู้จัดการฝ่ายที่รับคนเข้าทำงานอีกทีหนึ่ง

การไปสัมภาษณ์งาน จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับการเป็นเซลส์แมนขายสินค้า กล่าวคือนอกจากจะต้องรู้จักผู้ซื้อแล้วก็มีภารกิจหลักอยู่ประการเดียว คือต้องขายสินค้าที่ได้รับมอบหมายมาให้จงได้ แต่ ณ ตรงนี้ สินค้าที่ขายไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นตัวเอง

การขายความเป็นตัวเราให้เขารับเข้าทำงานก็มีทั้งความยากง่ายคละเคล้าปะปนกันอยู่ ความยากก็คือ  คำถามที่ว่า  สินค้าซึ่งก็คือตัวเรานี้มันมีคุณสมบัติที่ดีพอ และตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือบริษัทที่เราไปสัมภาษณ์งานเขาหรือยัง?  ซึ่งถ้าดีแล้วตรงแล้วก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีไม่ตรงก็เหนื่อยหน่อย เพราะต้องอาศัยความสามารถของเซลส์เองแล้วว่า จะขายของเก่งสักแค่ไหน ส่วนที่ว่าง่ายหน่อยก็คือ  ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดหรือแปลกประหลาดไปกว่าปกติทั่วไปแล้ว ในกระบวนการขายครั้งนี้ คงจะไม่มีใครรู้จักตัวสินค้านี้ดีไปกว่าตัวเราเอง

สรุปสั้น ๆ ว่า  การเตรียมรับมือกับการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวนั้น เมื่อรู้จักตัวเราตัวเขาแล้ว สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่รู้กันดีอยู่แล้วก็คือ “การอ่านใจผู้สัมภาษณ์” ดูว่าเขาต้องการหรือขาดอะไร รีบจับจุดให้ได้ แล้วก็ปิดการขายให้เรียบร้อย

Group Interview
คือการสัมภาษณ์ผู้สมัครพร้อมกันเป็นกลุ่ม อาจจะตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปจนถึงเกือบ 10 คน  ส่วนผู้สัมภาษณ์นั้นตามปกติแล้วจะมีมากกว่า 1 คน ซึ่งที่จะคอยมาล้อมยิงคำถามและสังเกตการณ์พร้อมกับประเมินผลคร่าว ๆ ก่อนจะประชุมสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังการสัมภาษณ์แล้วเสร็จ

การสอบสัมภาษณ์ในลักษณะนี้จะว่าไปก็คล้ายกับการประกวดแข่งขันชิงตำแหน่งขวัญใจกรรมการ โดยที่ผู้สมัครจะต้องออกมาแนะนำตัวและตอบคำถามที่ไม่ต่างกันมากนัก ให้รู้กันไปเลยว่าใครเป็นหมู่ ใครเป็นจ่า  และใครคิดใครเห็นอย่างไรต่อคำถามที่เหมือนๆกันเหล่านี้

การสัมภาษณ์รูปแบบนี้ นอกจากการเปรียบเทียบภูมิความรู้และประสบการณ์ รวมถึงทักษะพิเศษที่ค่อนข้างจะชัดเจนแล้ว หัวใจสำคัญก็คือ การช่วงชิงจังหวะ และความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างกลมกล่อมพอดิบพอดี

เรื่องนี้โอกาสขึ้นอยู่กับความยากง่ายของคู่แข่งขันในสนาม บางสนามที่บรรยากาศเงียบ ๆ เหนียม ๆ ก็ไม่หนักเท่าไหร่ แต่ถ้าสนามไหนเป็นสนามแบบชุมนุมชาวยุทธ์ที่ทุกคนล้วนแต่เก่งกล้าสามารถและคร่ำหวอดในยุทธจักรเกินกว่าจะเสี่ยงเอาลำคอเข้าไปรับกระบี่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องงัดเอาเคล็ดวิชา หนึ่งตำลึงปัดพันชั่ง ออกมาใช้เพื่อเอาตัวรอด กล่าวคือต้องมุ่งสร้างมิตร ไม่สร้างศัตรู ใช้ความเป็นกันเองและเข้ากันได้กับทุกคนทั้งผู้สมัครและกรรมการ ใช้ความอ่อนหยุ่น ไปปัดความเชื่อมั่นและความร้อนแรงของผู้ถูกสัมภาษณ์รายอื่นๆซึ่งเป็นความแข็งกร้าวกลับไป เป้าหมายก็คือให้รู้กันไปเลยว่าแม้เราวิชาการไม่แน่นปึ้ก ตอบโต้ก็ไม่ดุเด็ดเผ็ดมัน แต่เรานี่แหละเป็นคนที่น่าจะเป็นคนที่ทำงานกับทุกคนได้จริง และประสานงานได้ดี ซึ่งดีไม่ดีจะเป็นคุณสมบัติที่องค์กรนั้นๆ ต้องการมากกว่าอะไรทั้งมวลก็เป็นได้

Board Interview
คือการสัมภาษณ์แบบมีคณะกรรมการ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่มักจะทำให้ผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ออกอาการ “ใจสั่นมา” หรือ “ฉันยังปอดๆ” เหมือนเพลงดังเมื่อหลายปีก่อนของคุณนันทิดา แก้วบัวสาย เพราะการที่ต้องเข้าไปนั่งอยู่ในห้องที่รายล้อมไปด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ที่ต้องสละเวลาทำงานมานั่งจ้องซักถามและฟังคุณพูดนั้น การรวบรวมสมาธิเป็นสิ่งสำคัญประการแรกสุดที่ต้องทำให้สำเร็จเสียก่อน

จากนั้นจึงจะถึงเวลาปล่อยอารมณ์ตามสบาย ตอบคำถามและพูดคุยไปได้เรื่อย ๆ อย่างสุภาพและเชื่อมั่น  สำหรับการสัมภาษณ์แบบคณะกรรมการ ส่วนมากจะเป็นการรับสมัครในตำแหน่งงานที่ค่อนข้างไปทางระดับสูงที่มีความสำคัญต่อองค์กรอยู่พอสมควร จึงทำให้หลาย ๆ คนต้องมานั่งสัมภาษณ์ร่วมกัน

ดังนั้นผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ตัวที่ว่างอยู่นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพียบพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบและความรู้รอบตัว ซึ่งเชื่อเถอะว่าในตำแหน่งระดับนี้ ถ้าเขาเชิญคุณมากสัมภาษณ์ก็เชื่อได้แล้วว่า คุณมีคุณสมบัติเบื้องต้นที่ดีพอตัว ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของความพึงพอใจในบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ในการทำงานเท่านั้นเอง ที่จะเป็นตัวตัดสินใจในท้ายที่สุด

คือการสัมภาษณ์ที่มุ่งเน้นในเรื่องจิตวิทยา โดยการพูดคุยซักถามให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ เกิดโทสะ ท้อแท้ เพื่อวัดระดับความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และรับมือกับสถานการณ์ ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ

การสัมภาษณ์ในลักษณะดังกล่าว แม้ผู้สัมภาษณ์จะเสี่ยงเจ็บตัวอยู่สักหน่อย แต่สิ่งที่ได้ก็คือการได้ทราบลักษณะแนวทางการเจรจาโต้ตอบ และรู้จักตัวตน ลักษณะนิสัยของผู้สมัครลึกขึ้นกว่าการสัมภาษณ์รูปแบบอื่น  ซึ่งในงานบางสายอาชีพ อย่างอาชีพที่ต้องมุ่งเน้นงานบริการหรืองานขาย เรื่องอารมณ์และการแสดงออกต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากกับธุรกิจและความพึงพอใจของลูกค้า

หัวใจสำคัญของการจะผ่านพ้นการสัมภาษณ์ แบบ โหด มันส์ ฮา แบบนี้ไปได้ก็คือ เรื่องของจิตสำนึกการเป็นผู้ให้บริการหรือที่เรียกว่า Service Mind ที่จะมีอยู่มากน้อยเพียงใดในตัวผู้ถูกสัมภาษณ์เอง หรือไม่ก็เป็นการวัดกันว่าใครจะอดทนแสดงตามบทที่ควรจะเป็นได้แนบเนียนและดึงดูดใจผู้ชมได้มากกว่ากัน

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ