การพูด
โดย คุณดุลยทัศน์  พืชมงคล


แม้ในทุกวันนี้มนุษย์จะสามารถสื่อสารกันได้ ด้วยวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูด การแสดงสีหน้าท่าทาง การเขียน การพิมพ์ รวมไปถึงการสื่อสารออนไลน์ และการใช้รหัสเฉพาะงานต่างๆ แต่กระนั้นนับตั้งแต่โบราณกาลมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน การสื่อสารที่สำคัญที่สุดและใช้กันมากที่สุดยังคงไม่พ้นการสื่อสารกันด้วยการพูดหรือคำพูดของคนอยู่นั่นเอง

ด้วยการที่ การพูดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคน ดังนั้นบางคนจึงอาจประมาทดูแคลนในเรื่องของการพูดไปบ้าง โดยมองว่าการพูดนั้นไม่ใช่เรื่องยากและไม่มีสาระสำคัญอันใดที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ หรือขอเพียงแต่มีปากไม่ว่าใครก็พูดได้ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่นั่นคงเป็นความหมายของการพูดได้แต่ไม่ใช่การพูดเป็นหรือมีศิลปะในการพูด เพราะแท้จริงแล้วการจะพูดให้เป็นนั้นไม่ใช่ของง่ายดาย แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งพรสวรรค์ ประสบการณ์ จิตวิทยาและสติปัญญาของผู้พูดประกอบกัน

บางคนตลอดชีวิตเพียรพยายามอยู่กับการฝึกฝนการพูดการจา แต่จนแล้วจนรอดเมื่อเอ่ยปากพูดเมื่อใดคนฟังต่างก็ต้องคอยกุมขมับเพราะฟังไม่เข้าใจหรือเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายอยู่นั่นเอง บางคนมีกรรม พูดสิ่งใดก็มักมีผลให้คนที่ฟังรู้สึกชิงชังรังเกียจ กลายเป็นยิ่งพูดมากยิ่งสร้างศัตรูและความเสียหายให้แก่ตนเอง ขณะที่บางคนแม้พูดจาไพเราะเสนาะหู แต่ผู้ฟังกลับหาสาระอันใดจากสิ่งที่พูดนั้นไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์และไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไร

การพูดที่ดีนั้นโบราณว่าต้องเป็นการพูดที่เป็นประโยชน์ ทั้งยังต้องกระชับ น่าฟัง และเข้าใจง่าย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่หลักการพูดที่ดีที่สุดหรือไร้ที่ติ เพราะองค์ประกอบของการพูดนั้น นอกจากตัวผู้พูดและคำพูดแล้ว ยังมีตัวผู้ฟังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยจึงจะสมบูรณ์

ผู้ฟังนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของการพูด เพราะเป็นปัจจัยภายนอกซึ่งยากที่จะกำหนดควบคุมให้เป็นไปดังที่ใจปรารถนา อีกทั้งคนฟังนั้นก็มีทั้งที่เป็นคนฟังเพียงคนเดียวและคนฟังที่เป็นหมู่คณะไปจนถึงเป็นร้อยเป็นพันหรือมากกว่านั้น การจะพูดจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่แตกต่างหลากหลายและเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดของคน ซึ่งเท่ากับว่าเมื่อพูดออกไปแล้วย่อมต้องมีผลกระทบมาก ถ้าเป็นผลดีก็ดีไป แต่ถ้าพูดไปพูดมาแล้วกลายเป็นผลลบก็จะก่อให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นการพูดจึงเป็นสิ่งที่ผู้พูดจะต้องพึงระมัดระวัง กล่าวคือต้องคิดให้ดีก่อนพูดนั่นเอง เพราะแม้พูดในสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์ก็ใช่ว่าจะควรพูดโพล่งออกไปได้เสมอไป เพราะคำพูดของคนแม้จะเป็นคำพูดที่หวานหอมและเปี่ยมด้วยคุณค่าประหนึ่งน้ำผึ้งป่า แต่เมื่อไปกระทบเข้าหูของคนฟังที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะเป็นการยื่นดอกไม้ก็อาจจะกลับกลายเป็นการส่งศาสตราวุธเข้าไปทิ่มแทงคนฟังโดยไม่เจตนา ดีร้ายหอกทวนยังอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวผู้พูดเองก็เป็นได้ ฉะนั้นการพูดจึงเป็นของยาก  แต่ที่ว่ายากที่สุดของที่ว่ายากนั้นก็คือการคาดเดาจิตใจของผู้ฟังนั่นเอง

โบราณว่าวาจาที่ซื่อสัตย์ฟังไม่รื่นหู แต่มีค่าพันตำลึงทอง นั้นจริงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะวาจาที่ซื่อสัตย์แม้เป็นวาจาที่กระทบต่อความผิดพลาดหรือข้อด้อยของผู้ฟังซึ่งเป็นเสมือนยาขมที่มีรสชาติยากแก่การกล้ำกลืนลงคอ แต่ก็เป็นคุณแก่ผู้ยอมดื่มกินนั่นเอง

ผู้ฟังที่มีจิตใจกว้างขวางกล้ากินยาขมเป็นบุคคลประเภทหนึ่ง แต่ผู้ฟังที่มีจิตคับแคบก็เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่เมื่อฟังวาจาซื่อสัตย์ ไม่เพียงรู้สึกขัดหู ยังอาจพานประทานเภทภัยให้แก่ผู้พูดกลับมาเป็นกำนัล ดังนั้นสุภาษิตไทยจึงกล่าวเตือนเอาไว้ว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

แต่โบราณก็ยังว่าไว้อีกว่า สำหรับกิจการและบ้านเมือง ผู้ที่รับเงินเดือนกินเบี้ยหวัด การนิ่งแฉยเสียไม่พูดความจริงในสิ่งที่รู้ ไม่พูดในเรื่องซึ่งเป็นประโยชน์ หรือไม่กล่าวเตือนเมื่อเห็นเภทภัยข้างหน้า ย่อมต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะบังเกิดขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าถ้าจะให้ดีให้ถูกต้องแล้วก็จำเป็นต้องพูด ไม่พูดไม่ได้อยู่นั่นเอง ดังนั้นหัวใจของการพูดจึงไม่ใช่สักแต่พูดหรือเอาแต่อมพะนำ แต่อยู่ที่จะจัดการอย่างไรกับเรื่องที่ทราบให้เหมาะสมที่สุดต่างหาก

การพูดนั้นปราชญ์เมธีแต่อดีตกาลมาต่างก็เห็นตรงกันว่าผู้พูดต้องวิเคราะห์เสียก่อนว่าสิ่งที่จะพูดนั้นมีเหตุมีผลอย่างไร  เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องที่ทราบหรือเรื่องที่รู้นั้นเป็นข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่พูดแล้วเกิดประโยชน์ ถูกกับกาละและโอกาส จึงควรเลือกที่จะพูด ส่วนการเลือกที่จะพูดกับใครนั้นก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะเรื่องราวที่สำคัญหากเลือกคนฟังที่ผิด นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์หรือเกิดประโยชน์น้อยจนสูญค่าแล้ว บางครั้งยังอาจส่งผลเสียหายมากไปกว่าการไม่พูดเลยเสียอีก

เมื่อกำหนดผู้ฟังที่ถูกต้องแล้ว จึงต้องพินิจพิเคราะห์ต่อไปว่า ผู้ฟังที่เหมาะสมผู้นั้นเป็นบุคคลเช่นไร ใช่เป็นบุคคลที่รับฟังได้ทุกเรื่องราวหรือไม่ หรือเป็นคนเจ้าอารมณ์มากโทสะ ช่างระแวงขี้สงสัย หรือเป็นบุคคลที่ถือทิฐิมานะไม่รับฟังความเห็นใครง่ายๆ  ซึ่งเมื่อกำหนดได้แม่นยำแล้ว จึงมาถึงขั้นของการเลือกโอกาสและวิธีการหรือแนวทางในการพูดโน้มน้าวจูงใจเพื่อให้รับทราบหรือเห็นคล้อยตามในสิ่งที่จะพูด เช่นนี้แล้วการพูดก็มีโอกาสเกิดเป็นผลสำเร็จได้มาก

ที่ไม่กล่าวว่าจะเกิดผลสำเร็จแน่นอนนั้นก็เพราะว่า ธรรมดาการประมาณใจคนนั้น แม้รัดกุมที่สุดแล้วก็ยังย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อให้การพูดเป็นไปอย่างครบถ้วนกระบวนความที่สุดแล้วจึงต้องศึกษาให้รู้ชัดในด้านตรงข้ามกับสิ่งที่พูดไว้ด้วย ก็จะประมาณได้ว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้นตามมานั้นจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร ซึ่งเมื่อรู้เช่นนี้การเตรียมตัวและป้องกันระแวดระวังความผิดพลาดไว้ก่อนก็จะมีมากขึ้น แม่นยำขึ้น และจะช่วยให้ผลลัพธ์ที่จะเกิดมีความสุ่มเสี่ยงน้อยลงไปอีกชั้นหนึ่ง

 


JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ