อำนาจคุณภาพสูง

โดย คุณดุลยทัศน์ พืชมงคล

 

 

    ในแต่ละปีประเทศไทยมีงานใหญ่ๆ โตๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสืออยู่ 2 งานครับ งานแรกจัดอยู่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ชื่องาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ส่วนงานที่สองอยู่ในเดือนตุลาคมชื่องาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ  สองงานนี้ต่างกันตรงที่งานหนึ่งชื่องานขึ้นต้นด้วยสัปดาห์ ส่วนอีกงานขึ้นต้นด้วยมหกรรม ซึ่งทำให้หลายคนสับสนในชื่อของงานทั้งสองงานนี้อยู่เป็นประจำ ถึงกระนั้นบรรดาคนรักหนังสือทั้งหลายแม้จะจำชื่อไม่ค่อยได้ว่างานไหนเป็นงานไหน แต่ก็เป็นที่รู้กันดีครับว่าหากมาถึงทั้งสองงานนี้แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีสรรพหนังสือดีจากทั่วฟ้าเมืองไทย มาวางจำหน่ายให้เลือกสรรกันในราคาที่พิเศษสุดๆ

     ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีโอกาสคอลัมน์นี้ ก็มักจะเขียนแนะนำชักชวนให้ไปเดินชมงานสองงานนี้กันอยู่เสมอครับ ที่แนะนำก็ไม่ใช่เพราะอยากจะประชาสัมพันธ์ให้บูธหนังสือวิชาการบัญชี ภาษีอากร ฯลฯ ของธรรมนิติอย่างเดียวเท่านั้น แต่ใจจริงอยากจะประชาสัมพันธ์ให้กับทุกสำนักพิมพ์ ทุกร้านหนังสือ ทุกแผง ทุกโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเก่า หนังสือใหม่ หนังสือการ์ตูน หนังสือคอมพิวเตอร์ หรือหนังสืออะไรก็ตามแต่ เพราะอยากให้คนรู้ข่าวมากๆ และมามากๆ และถ้ายิ่งซื้อมากๆ ด้วยก็ยิ่งดี เพราะต้องยอมรับครับว่ายอดขายที่ดีนั้นเป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันให้คนทำหนังสือ มีกำลังใจเขียนมากขึ้น คนผลิตก็มีกำลังทรัพย์ผลิตหนังสือดีๆ ออกมาสู่สังคมได้อย่างต่อเนื่อง

    ที่สำคัญ การที่มีคนอ่านหนังสือเยอะๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีแท้แน่นอน เพราะเนื้อแท้ของการอ่านก็คือการศึกษาเรียนรู้ คนเมื่ออ่านมากก็เรียนรู้มาก เมื่อเรียนรู้มากก็เกิดความรู้ และเมื่อเกิดความรู้มากๆ เข้าก็จะกลายเป็นคนที่ติดนิสัยที่ติดแล้วดีชนิดหนึ่ง เรียกว่านิสัยที่ “รักในความรู้” ซึ่งคำนี้ในภาษาอังกฤษ จะใช้คำที่นำเอามาจากภาษากรีกอีกทีว่า Philosophy มาจากการผสมคำ 2 คำ คือ คำว่า “Philos” หมายถึง “ความรัก” และ คำว่า “Sophos” หมายถึง “ความรู้”

    เรื่องของความรู้นั้น มีคำกล่าวคำหนึ่งที่น่าสนใจนำมาพูดถึงกันในที่นี้ก็คือคำกล่าวที่ว่า “ความรู้คืออำนาจ” คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวยอดฮิตในช่วงหลายปีมานี้ที่หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นคำกล่าวยอดฮิตหนึ่งที่ฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่าความรู้มันไปเกี่ยวอะไรกับอำนาจ และนอกจากไม่เข้าใจแล้ว สำหรับบางคนที่บูชาความรู้หรือฝักใฝ่วิชาการมากหน่อย ก็อาจไม่ค่อยชื่นชอบคำกล่าวนี้สักเท่าไหร่นัก เพราะคิดเอาว่าคำกล่าวที่ว่าความรู้คือ อำนาจนั้นให้ความรู้สึกในแง่ลบกับเรื่องของความรู้ไปบ้าง เนื่องจากเมื่อเอาความรู้เข้าไปรวมอยู่กับคำว่าอำนาจแล้ว ออกจะให้ความรู้สึกเหมือนกับเอาความรู้ซึ่งเป็นผ้าขาวไปวางกองรวมกันอยู่กับอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งสกปรก

     ทั้งนี้ก็น่าเห็นใจคนกลุ่มนี้อยู่เหมือนกันครับที่คิดอย่างนี้ เพราะในความเป็นจริงแล้วอำนาจโดยส่วนใหญ่ที่ผู้คนรู้จักคุ้นเคย มักจะเป็นอำนาจที่เป็นรูปธรรม มองเห็นได้ชัดเจน และเป็นรูปแบบของอำนาจที่ค่อนข้างเป็นทางการอย่างเช่นอำนาจของรัฐ ที่ว่าน่าเห็นใจก็เพราะอำนาจที่พวกเขาคุ้นเคยและจับต้องได้เหล่านี้ ในประวัติศาสตร์อันยาวนานไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ก็มักจะถูกผู้ที่ครอบครองใช้สอยอย่างไม่เป็นธรรมเท่าไหร่นัก ดังนั้นอำนาจจึงกลายเป็นคำอาภัพที่คนส่วนใหญ่ได้ยินแล้วให้ความรู้สึกในแง่ลบ ให้ความรู้สึกที่อึดอัด และถูกเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบ ทั้งที่แท้จริงแล้วอำนาจก็มีสัจธรรมที่ไม่ต่างไปจากสิ่งอื่นๆ ที่มีด้านสองด้านทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจนั้นอย่างไร และใช้อย่างมี “คุณภาพ” มากน้อยแค่ไหน

   สรุปก็คือ มีเรื่องของคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ คุณภาพที่ว่านี้มีความหมายอย่างไร ?

   หนังสือ “อำนาจใหม่” (Power Shift) ของอัลวิน ทอฟฟเลอร์ ที่เขียนขึ้นในต้นทศวรรษที่ 20 และแปลโดย คุณขุนทอง ลอเสรีวานิช ในช่วงปี 2537 อธิบายเรื่องคุณภาพของอำนาจไว้ได้อย่างน่าสนใจ และสมควรมาเล่าสู่กันฟังเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านหรือเคยอ่านแต่ลืมไปแล้ว ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องของอำนาจ และการเคลื่อนย้ายของอำนาจในทุกความสัมพันธ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ของบุคคลในกลุ่มต่างๆ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยมีแนวความคิดเกี่ยวกับตัวตนของอำนาจว่า อำนาจประกอบไปด้วย ความรุนแรง เงินตรา และความรู้ ซึ่งแตกต่างจากสมมติฐานดั้งเดิมเกี่ยวกับอำนาจ ที่มักจะพิจารณาอำนาจในแง่ของปริมาณเท่านั้น ทั้งที่แท้ที่จริงแล้วด้านที่สำคัญที่สุดของอำนาจคือ คุณภาพ

    ทอฟฟเลอร์ กล่าวว่า กำลังหรือความรุนแรง คืออำนาจที่มีคุณภาพต่ำ เพราะไม่มีความยืดหยุ่น เป็นอำนาจที่ใช้สำหรับการลงโทษ หรือบังคับให้ผู้อื่นทำตามความต้องการของตน โดยไม่คำนึงถึงความสมัครใจ และการใช้กำลังเป็นอำนาจทำให้เกิดการต่อต้าน....

    ในขณะที่เงินตราหรือความมั่งคั่ง เป็นอำนาจที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะในขณะที่กำลังใช้ได้เฉพาะการลงโทษ ความมั่งคั่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการให้รางวัลได้ ความมั่งคั่งจึงเป็นอำนาจทีมีคุณภาพระดับกลาง

    อำนาจที่มีคุณภาพสูงที่สุดคือความรู้ เพราะคุณภาพของอำนาจวัดกันด้วยประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการใช้อำนาจน้อยที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมาย และมีแต่ความรู้จึงจะสามารถโน้มน้าว จูงใจ และขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างไปได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังบังคับ หรือใช้เงินตราว่านโปรยเพื่อล่อใจอย่างไรก็ดี ผู้มีอำนาจสูงสุดคือผู้ที่รู้จักผสมผสานอำนาจทั้งสามอย่างนี้เข้าด้วยกัน และเลือกใช้ถูกต้องในแต่ละสถานการณ์ โดยมีข้อสังเกตอยู่ว่า ในทุกวันนี้ กำลังและเงินตรา ต่างขึ้นอยู่กับความรู้ และต่างต้องอาศัยความรู้เป็นตัวนำทั้งในการได้มา การใช้ ตลอดจนการรักษาอำนาจทั้งสามอย่างนี้ไว้

     ทอฟฟเลอร์ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติพิเศษ ของอำนาจจากความรู้ไว้อีกว่า ความรู้เป็นมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากกำลังและความมั่งคั่ง กล่าวคือ ความรู้เป็นสิ่งที่เมื่อใช้ไปแล้วนอกจากจะยังคงอยู่ไม่หมดสิ้นไปแล้วและสามารถสร้างเสริมเพิ่มเติมขึ้นใหม่ได้ ในขณะที่กำลังและความมั่งคั่งมีแต่จะร่อยหรอ และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะหมดไป...

     นอกจากนี้ ความรู้ยังเป็นแหล่งอำนาจที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะไม่ว่าใครก็สามารถแสวงหาความรู้ได้ ทั้งยังเป็นทรัพยากรที่สามารถใช้ร่วมกันได้หลายๆ คนในเวลาเดียวกัน และนี่คือคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ คุณภาพ และความรู้ ที่อาจทำให้หลายคนหายสงสัยว่า ความรู้คืออำนาจ นั้นหมายความว่าอย่างไรได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สุดอันหนึ่ง ใครสนใจจะเรื่องของคุณภาพที่ว่ามานี้ ก็ขอเชิญมาร่วมแสวงหาวัตถุดิบซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของอำนาจที่มีคุณภาพสูงและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดกันได้ที่งาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีข้อแม้ว่า อย่าลืมเอาอำนาจคุณภาพระดับกลางพกใส่กระเป๋ามาด้วยครับ



JobDST Job จ็อบดีเอสที สมัครงาน งาน หางาน หางานดี งานราชการ งานบัญชี งานนอกเวลางานอิสระ งานบริษัท มหาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจ บรรษัท ค้นหาคนค้นหางาน ค้นหาพนักงานรับสมัครงาน รับสมัครพนักงาน ค้นหาคนดี ค้นหาคนเก่ง แหล่งรวบรวมข้อมูล บริษัทชั้นนำคนหางานทั่วประเทศ