กรอกข้อความเท็จในใบสมัครงานเลิกจ้างได้มั้ย?



ประเด็นพิพาทนี้นายจ้างแพ้ครับ เมื่อไปดูข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างในคดีนี้ หมวด 10 ว่าด้วย
วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.3 ความซื่อสัตย์สุจริต ข้อ 3.3.2 พนักงานต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนตามที่บริษัทฯ
ต้องการแก่บริษัทฯ ตามความเป็นจริง และถ้าข้อมูลที่ได้แจ้งแล้วไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พนักงาน
ต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัทฯ ทราบโดยเร็วที่สุด

จากข้อความที่ระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น ย่อมมีผลใช้บังคับกับคนที่เป็นลูกจ้างแล้วเท่านั้น ไม่มีผลผูกพัน
ไปถึงบุคคลภายนอก

ขณะที่ลูกจ้างที่เป็นโจทก์ฟ้องในคดีนี้ ได้กรอกข้อความลงในใบสมัครงาน ตอนนั้นเป็นแค่ผู้สมัครงานเท่านั้น ยังไม่ได้เป็น
ลูกจ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องมาทำตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย

ส่วนที่ตอนท้ายของใบสมัครงานมีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอรับรองว่ารายละเอียดดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นความสัตย์จริง
ทุกประการ หากภายหลังที่ได้เข้ามาทำงานแล้ว ปรากฏว่ามีข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นความเท็จ บริษัทฯ
มีสิทธิที่จะลงโทษและ/หรือเลิกจ้าง โดยให้ข้าพเจ้าออกจากงานได้ทันที ตามแต่กรณีนั้น ศาลฎีกาท่านมองว่าอาจเป็น
เงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างลงโทษลูกจ้างหรือเลิกสัญญาจ้างได้เป็นการเฉพาะราย

ใบสมัครงาน มิใช่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น
แม้จะได้ความว่าลูกจ้าง (โจทก์) กรอกข้อความในใบสมัครงานเป็นเท็จ กรณีที่ว่านั้นจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของลูกจ้าง
รายนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง

เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอาศัยเหตุดังกล่าว ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย
และไม่สูญเสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ต่างๆ อันพึงมีพึงได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย

ข้อเท็จจริงต่อมาคือ นับตั้งแต่ที่รับลูกจ้างรายที่เป็นโจทก์นี้ เข้ามาทำงานเป็นพนักงานควบคุมเครื่องจักร ลูกจ้างก็ได้ปฏิบัติ
หน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร จนได้รับเบี้ยขยันและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าแผนก อันเป็นการแสดง
ให้เห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นพนักงานของนายจ้าง (จำเลย) แล้ว

แม้ว่าลูกจ้างจะได้เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญามาก่อน แต่ก็เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายก็ได้ถอนคำร้องทุกข์
และคดีระงับสิ้นลงแล้วด้วยซ้ำ ก่อนที่จะมาเป็นพนักงานของนายจ้างประมาณ 2 ปี

อีกอย่างหนึ่งคือเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรให้แก่นายจ้าง จึงมิใช่เรื่องร้ายแรงครับ

การที่นายจ้างไปอาศัยเหตุที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้นนั้น ไปเลิกจ้างลูกจ้าง (โจทก์) จึงมิใช่เหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม


  บางส่วนจากบทความ  “ฎีกา 2 รส ขมอมหวาน ค่าเช่าบ้านถือเป็นค่าจ้างหรือไม่  และ กรอกข้อความเท็จ
  ในใบสมัครงานเลิกจ้างได้มั้ย”

  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 206 เดือนกุมภาพันธ์ 2563



คลายปมปัญหาแรงงาน : กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ 
วารสาร : HR Society Magazine กุมภาพันธ์ 2563